คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 1 หน้า 24 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++

ย่อยาว

เรื่อง คดีแรงงาน
จำเลย อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ ๘ เดือน ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
ศาลฎีกา รับวันที่ ๒๒ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๘ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ๒,๔๖๗.๕๘ ดอลลาร์สหรัฐ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ ๒๕ ของเดือนและโจทก์มีสิทธิได้รับโบนัสเท่ากับเงินเดือน ๒ เดือน เป็นอย่างน้อยต่อมาวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ จำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์ ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๐ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีเหตุผลอันสมควร จำเลยจ่ายค่าจ้างเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ ให้โจทก์เป็นเงิน ๒,๔๖๗.๕๘ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าชดเชยจำนวน ๓ เดือนเป็นเงิน ๗,๔๐๒.๗๔ ดอลลาร์สหรัฐ โดยจ่ายเป็นเงินไทยรวมจำนวน๒๕๖,๖๒๘.๑๗ บาท คิดอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๖ บาทการเลิกจ้าง การจ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชย ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินโบนัส จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและปราศจากเหตุผลโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้พ้นจากหน้าที่ จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และการจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๒๖ บาท นั้นขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒๗ ซึ่งให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนของทางราชการในวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐ทางราชการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๘.๔๐บาท ทำให้โจทก์ขาดผลประโยชน์อันควรได้รับ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายดังนี้ ค่าจ้างเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๒,๔๖๗.๕๘ ดอลลาร์สหรัฐสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับเงินเดือน ๑ เดือน เป็นเงิน๒,๔๖๗.๕๘ ดอลลาร์สหรัฐ เงินโบนัสประจำปี ๒๕๔๐ เท่ากับเงินเดือน๒ เดือน เป็นเงิน ๔,๙๓๕.๑๖ ดอลลาร์สหรัฐ ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างจำนวน ๓ เดือน เป็นเงิน ๗,๔๐๒.๗๔ ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่ากับเงินเดือน ๓ เดือน เป็นเงิน๗,๔๐๒.๗๔ ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับในวันเลิกจ้าง๒๔,๖๗๕.๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยทั้งสิ้น ๙๗๔,๕๕๐.๗๒ บาทแต่จำเลยจ่ายให้โจทก์จำนวน ๒๕๖,๖๒๘.๓๒ บาท ขาดไปจำนวน๖๙๐,๙๒๒.๔๐ บาท จำเลยจงใจผิดนัดจ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างชำระทุกระยะ ๗ วัน เป็นเงินดอกเบี้ยและเงินเพิ่ม ๙๕,๕๘๒ บาท เมื่อรวมกับเงินค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๘๖,๕๐๔.๔๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน๗๘๖,๕๐๔.๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน๕๐๑,๔๑๒.๒๖ บาท ดอกเบี้ยกรณีผิดนัดจ่ายค่าจ้างร้อยละสิบห้าต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะ ๗ วัน ของเงิน ๑๒๕,๓๕๓ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ในการจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต้องคิดอัตราแลกเปลี่ยน ๒๖ บาท ต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ก็ได้จ่ายค่าจ้างประจำเดือนตุลาคม ๒๕๔๐และค่าชดเชยให้โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น ๒๕๖,๖๒๘.๓๒ บาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวถูกต้องแล้ว ทั้งนี้เพราะโจทก์และพนักงานอื่นของจำเลยต่างตกลงกับจำเลยยอมรับการปรับปรุงระบบการจ่ายค่าจ้างจากเดิมที่จ่ายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเงินบาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๖ บาท และจำเลยจ่ายค่าจ้างให้พนักงานทุกคนในอัตราดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นมา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๘.๔๐ บาท จำเลยได้บอกกล่าวเลิกจ้างให้โจทก์ทราบล่วงหน้าด้วยวาจาตั้งแต่ประมาณวันที่ ๒๐กันยายน ๒๕๔๐ ว่าจะเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๐ ซึ่งโจทก์รับทราบและยอมรับการเลิกจ้างของจำเลยโดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสประจำปี ๒๕๔๐ เนื่องจากตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลย พนักงานที่จะมีสิทธิได้รับเงินโบนัสประจำปีใดจะต้องทำงานอยู่จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ของปีนั้น โจทก์อยู่ทำงานในปี ๒๕๔๐ ไม่ถึงวันที่ ๒๕ธันวาคม จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยสุจริต ไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ เหตุที่จำเลยจำเป็นต้องเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาอย่างเต็มความสามารถ เป็นเหตุให้งานล่าช้า ผลงานไม่เป็นที่พอใจของจำเลยและเกิดความเสียหายแก่จำเลยจำเลยได้ให้โอกาสโจทก์ปรับปรุงผลการปฏิบัติงานแล้ว แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามประกอบกับจำเลยประสบปัญหาทางด้านการค้า เป็นเหตุให้จำเลยต้องปรับปรุงการทำงาน การจ่ายค่าจ้างและการบริหารงานบุคคล จำเลยจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานบางส่วน โดยพิจารณาเลิกจ้างลูกจ้างที่มีผลการทำงานไม่เป็นที่พอใจ จำเลยได้แจ้งให้โจทก์และพนักงานอื่นที่จะถูกเลิกจ้างทราบล่วงหน้าแล้ว โจทก์และพนักงานอื่นตกลงรับการเลิกจ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าจ้างประจำเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ และค่าชดเชยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๘.๔๐ บาท เนื่องจากจำเลยได้จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้โจทก์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยและเงินเพิ่มจำนวน ๙๕,๕๘๒ บาท เพราะจำเลยไม่เคยผิดนัดชำระค่าจ้าง ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ ๓ มกราคม๒๕๓๘ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๒,๔๖๗.๕๘ ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรัฐบาลประกาศอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศลอยตัว จำเลยก็จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ในอัตราลอยตัว ต่อมาวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐ จำเลยมีบันทึกภายในเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๐ โจทก์ลงชื่อรับทราบไว้ตามเอกสารหมาย จ.ล.๔ ต่อมาวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๐ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๑๙๒,๔๗๑ บาท และค่าจ้างเดือนตุลาคม๒๕๔๐ จำนวน ๖๔,๑๕๗.๐๘ บาท ให้แก่โจทก์ นับถึงวันเลิกจ้างโจทก์มีอายุงาน ๒ ปี ๑๐ เดือน ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.ล.๑ ข้อ ๙ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างในเวลาใด ๆ โดยจำเลยบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน ตามเงื่อนไขการเลิกจ้างที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์กลั่นแกล้งโจทก์ การเลิกจ้างโจทก์มีเหตุผลสมควรมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมส่วนค่าชดเชยสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.ล.๑ ข้อ ๒ ระบุชัดว่าจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เดือนละ ๑,๖๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ได้ระบุอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยไว้ จึงต้องคิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันจ่ายเงินจำเลยจ่ายค่าจ้าง และค่าชดเชย ให้โจทก์โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๖ บาท จึงไม่ถูกต้อง อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐ นั้น ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๓๘.๔๐ บาท โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามเดือน คิดเป็นเงินจำนวน๒๘๔,๒๖๕.๒๑ บาท จำเลยจ่ายให้แล้ว ๑๙๒,๔๗๑.๒๔ บาท จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก ๙๑,๗๙๓.๙๗ บาท และจำเลยจ่ายค่าจ้างในเดือนตุลาคม ๒๕๔๐ ให้โจทก์เพียง ๖๔,๑๕๗.๐๘ บาท แต่โจทก์มีสิทธิได้รับ๙๔,๗๕๕.๐๗ บาท จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์อีก ๓๐,๕๙๙.๙๙ บาทจำเลยกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสประจำปีตามเอกสารหมายล.๒ ข้อ ๒ และข้อ ๓ รวมความว่า พนักงานที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างระหว่างปีจะไม่มีสิทธิได้รับโบนัสประจำปี กำหนดจ่ายเงินโบนัสทุกวันที่๒๕ ธันวาคม ของแต่ละปี เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม๒๕๔๐ ก่อนถึงกำหนดจ่ายเงินโบนัสโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกกลั่นแกล้งจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส จำเลยผิดนัดการจ่ายค่าจ้างจึงต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีจากต้นเงินค่าจ้างจำนวน ๓๐,๕๙๗.๙๙ บาท ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖มีนาคม (ที่ถูกเมษายน) ๒๕๑๕ ข้อ ๓๑ นับแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๐ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนค่าชดเชยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามบทบัญญัติดังกล่าว สำหรับเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าทุกระยะ ๗ วันนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดการจ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพียงแต่จำเลยจ่ายให้ตามความเข้าใจ และการแปลสัญญาจ้างของจำเลยเท่านั้น พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจำนวน ๓๐,๕๙๗.๙๗บาท และค่าชดเชยจำนวน ๙๑,๗๙๓.๙๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีและร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดและวันเลิกจ้าง (วันที่ ๒๖ ตุลาคม๒๕๔๐) ตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า ในวันทำสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ ได้มีการตกลงให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๕ บาท เป็นเกณฑ์คิดคำนวณนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่ได้ระบุอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยไว้จึงต้องคิดเทียบในวันที่จ่ายเงิน อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๐จำเลยประกาศกำหนดการจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานเป็นเงินไทยโดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๖ บาท ตามเอกสารหมาย จ.ล.๕ โจทก์และพนักงานทุกคนไม่คัดค้านประกาศดังกล่าว จึงถือได้ว่าประกาศเอกสารหมาย จ.ล.๕ เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘จำเลยจ่ายค่าจ้างให้พนักงานในอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวก็เป็นการอนุเคราะห์พนักงานที่จำเลยจัดให้เท่านั้น ไม่มีผลยกเลิกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม การที่จำเลยประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ๒๖ บาท จึงไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอันเป็นเหตุให้โจทก์หรือพนักงานเสียเปรียบ จำเลยมีสิทธิเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวได้นั้นเห็นว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.ล.๑ ข้อ ๒ กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ และไม่มีข้อตกลงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนไว้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทย จึงต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนของทางราชการในวันที่ถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒๗ วรรคสอง ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๐กำหนดให้ ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๓๘.๔๐ บาท สัญญาจ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างดังกล่าวเป็นสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๕ การที่จำเลยประกาศกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นใหม่ตามเอกสารหมาย จ.ล.๕ โดยกำหนดให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ ๒๖ บาท จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมแล้ว ประกาศของจำเลยที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินขึ้นใหม่ จึงไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยไม่มีสิทธิเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเดิมที่ทำไว้ต่อโจทก์ ทื่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยที่จ่ายขาดไปพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share