แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ที่ดินพิพาทจะมีการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของจำเลยก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเท่านั้น การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใดและการออกโฉนดที่ดินพิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในโฉนดที่ดินพิพาท จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยชอบหรือไม่ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ คำพิพากษาที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท มิใช่เป็นการบังคับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้น ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๕๗ ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๑ ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ไปดำเนินการเอง
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของผู้มีชื่อซึ่งได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๗๘ จำเลยที่ ๑ ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้มีชื่อโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือว่าได้มาโดยสุจริต และได้เข้าครอบครองนับแต่นั้นมา ต่อมาได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ไปเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดิน การออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๐๑ ของโจทก์ ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๐๗๘ ให้แก่โจทก์ แต่เนื้อที่ไม่ครบ ส่วนที่ขาดคือที่ดินพิพาทโดยทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ในส่วนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนายวาน แพงมาก เลขที่ ๑๐๗๘ เช่นเดียวกับของโจทก์ นายวานไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินที่นายวานครอบครองและขายให้แก่จำเลยทั้งสอง คือส่วนที่อยู่ติดกับที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาท เนื้อที่ ๓ งาน ๔๖ ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๕๗ ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๕๗ ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๖๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๓ งาน ๔๖ ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๑๐๑ ซึ่งเป็นของโจทก์มีเนื้อที่รวม ๒ ไร่ มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า ที่มีการนำสืบพยานบุคคลว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๕๗ ออกโดยไม่ถูกต้องเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ เห็นว่า การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การที่ที่ดินพิพาททางราชการได้ออกโฉนดแล้วตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๔๕๗ ซึ่งตามโฉนดจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ดังนั้นจำเลยที่ ๑ จึงต้องเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกา กฎหมายเพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้นว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ดังนั้น จึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาเกินคำขอหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทจึงเกินคำขอนั้น เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ด้วย จากข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ ๒ โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ ๒ โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ จึงไม่เกินคำขอ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่า ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ คือผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อคดีนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้เป็นคู่ความ ศาลมิอาจพิพากษาให้มีผลบังคับถึงบุคคลภายนอกคดีได้ คงพิพากษาได้เพียงให้จำเลยที่ ๑ ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเท่านั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๗๕๔๗ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบนั้นได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินมิได้บังคับบุคคลภายนอกดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ เข้าใจ แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีนี้เท่านั้นศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ.