แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้ยืมเงินระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ความจริงตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)
ในทางปฏิบัติที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังวันทำสัญญาไม่ถึงอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นการคิดดอกเบี้ยในขณะจำเลยปฏิเสธการชำระหนี้ตามสัญญา มิใช่คิดดอกเบี้ยในขณะทำสัญญา เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกขณะทำสัญญาเกินอัตราตามประกาศของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) ดอกเบี้ยตามสัญญาจึงเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะได้ ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ระบุหมายเลขโฉนดที่ดินซึ่งให้บังคับจำนองผิดพลาด โจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แล้ว อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือ ข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวย่อมอยู่แก่ศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่อำนาจของศาลชั้นต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๓๓๗,๔๐๑.๓๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๒๐๑,๗๓๑.๒๗ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๐๕๑ และ ๔๓๐๕๒ ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๒๐๑,๗๓๑.๒๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๐๕๒ และ ๔๓๐๕๓ ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน ๒๐๑,๗๓๑.๒๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๙ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ให้คืนค่าขึ้น ศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินจำนวน ๑,๓๓๒.๕๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ระหว่างฎีกาก่อนส่งสำนวนมาศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็น คู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า อัตราดอกเบี้ยตามประกาศของโจทก์เมื่อบวกค่าอัตราความเสี่ยงแล้ว โจทก์มีสิทธิ คิดดอกเบี้ยได้เท่ากับอัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี และแม้ในสัญญาจะระบุดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี แต่เมื่อโจทก์ ไม่เคยคิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากจำเลยในขณะทำสัญญาหรือภายหลังจากนั้น ดอกเบี้ยตามสัญญาจึงไม่เป็นโมฆะ ทั้งการนำสืบว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยขณะสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ เมื่อตามคำสั่งและประกาศของโจทก์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันทำสัญญากู้ยืมเงินได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราร้อยละ ๑๒.๕ ต่อปี แม้จะบวกค่าอัตราความเสี่ยงร้อยละ ๒ ต่อปี ก็เป็นอัตราร้อยละ ๑๔.๕ ต่อปี หาใช่อัตราร้อยละ ๑๖.๕ ต่อปี ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากจำเลยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ ๑๔.๕ ต่อปี เท่านั้น แต่ตามสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ ๒ มีข้อความว่า ผู้กู้ยืมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมตามข้อ ๑ ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนว่าโจทก์จำเลยตกลงคิดดอกเบี้ยกันในอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี และเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จะต้องชำระกันเป็นรายเดือนทุกเดือน โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ ๒ นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น โดยตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำพยานบุคคลเข้าสืบเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงิน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ (ข) และแม้ในทางปฏิบัติโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังวันทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี ก็เป็นการคิดดอกเบี้ยในขณะจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา มิใช่คิดดอกเบี้ยในขณะทำสัญญา เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๓ (ก) ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.๔ จึงเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะได้เพียงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๐๕๒ และ ๔๓๐๕๓ ออกขายทอดตลาดเป็นให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๐๕๑ และ ๔๓๐๕๒ ออกขายทอดตลาด และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น เห็นว่า ขณะโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าว โจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ แล้ว อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดพลาดหรือข้อหลงผิดเล็กน้อยดังกล่าวย่อมอยู่แก่ศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๓ วรรคหนึ่ง หาใช่อำนาจของศาลชั้นต้นไม่ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้แก้ไขคำพิพากษานั้นจึงไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว และศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๓๐๕๑ และ ๔๓๐๕๒ ตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ