คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8296/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาเช่าแท่นขายสินค้ากับจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปขายสินค้าในแท่นขายสินค้านั้นได้ เพราะจำเลยที่ 5 เข้าไปขายสินค้าอยู่ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 5 เข้าไปครอบครองแท่นขายสินค้าหาได้เข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์และจำเลยที่ 5 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการละเมิดต่อผู้ให้เช่าหรือเจ้าของที่ดิน หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองแท่นขายสินค้า จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เช่าถูกรอนสิทธิในแท่นขายสินค้าที่เช่า โจทก์ต้องบังคับผู้ให้เช่าส่งมอบแท่นดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 การกระทำของจำเลยที่ 5 ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 5 ได้ แม้จำเลยที่ 5 จะไม่ได้ให้การไว้และไม่ได้ฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๕ ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากแท่นเลขที่ ๘๙ ของโจทก์ พร้อมส่งมอบแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและห้ามเกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๔๙๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ และร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๔๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ ๕ และบริวารจะออกไปจากแท่นเลขที่ ๘๙ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๔๙๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ ๕ และบริวารออกไปจากแท่นเลขที่ ๘๙ และส่งมอบแท่นขายสินค้าแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และห้ามจำเลยที่ ๕ เกี่ยวข้องต่อไป ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ ๗,๕๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๕ และบริวารจะออกไปจากแท่นเลขที่ ๘๙ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๖ โจทก์ถึงแก่กรรม นายชวลิต ทายาทและผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ ๕ ถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางพรทิพย์ ทายาทของจำเลยที่ ๕ เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๓๘ โจทก์ได้จองแท่นเลขที่ ๘๙ ซึ่งอยู่ในตลาดสดเทศบาลจำเลยที่ ๑ โจทก์ชำระเงินค่าธรรมเนียมในการจองแก่จำเลยที่ ๑ จำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท จากนั้นในวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๘ จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ทำสัญญาเช่าแท่นขายสินค้าดังกล่าว โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ให้เช่า โจทก์เป็นผู้เช่า แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าไปขายสินค้าในแท่นขายสินค้านั้นได้ เพราะจำเลยที่ ๕ เข้าไปขายสินค้าอยู่ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์เบิกความรับอีกว่า ในวันที่โจทก์จองแท่นขายสินค้าก็เห็นจำเลยที่ ๕ เข้าไปขายสินค้าในแท่นเลขที่ ๘๙ แล้ว เห็นว่า การที่จำเลยที่ ๕ เข้าไปครอบครองแท่นขายสินค้าดังกล่าวก่อนโจทก์จองแท่นขายสินค้าและทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๕ หาได้เข้าครอบครองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์และจำเลยที่ ๕ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยที่ ๕ เข้าไปขายสินค้าในแท่นดังกล่าวโดยไม่มีสิทธินั้น เป็นการละเมิดต่อผู้ให้เช่าหรือเจ้าของที่ดิน หาใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับมอบการครอบครองในแท่นเลขที่ ๘๙ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เช่าถูกรอนสิทธิในแท่นขายสินค้าที่เช่า โจทก์ต้องบังคับผู้ให้เช่าส่งมอบแท่นดังกล่าวแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๔๙ การที่จำเลยที่ ๕ เข้าไปขายสินค้าในแท่นเลขที่ ๘๙ จึงไม่ได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๕ ได้ แม้จำเลยที่ ๕ จะไม่ได้ให้การไว้และไม่ได้ฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) , ๒๔๖ และ ๒๔๗ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายเดือนละ ๔,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ ๑ จะส่งมอบแท่นเลขที่ ๘๙ แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๕ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ และให้ยกฎีกาจำเลยที่ ๕ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ ๕ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๖.

Share