คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมจะขอถอนฟ้อง ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดต่อส่วนตัว แต่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 268 เป็นความผิดต่อแผ่นดิน โจทก์ร่วมไม่อาจขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 ทั้งการที่โจทก์ร่วมขอถอนฟ้องก็ไม่ทำให้การกระทำผิดของจำเลยซึ่งสำเร็จไปแล้วกลับเป็นขาดองค์ประกอบความผิด เพราะโจทก์ร่วมไม่เสียหายได้อีก การกระทำของจำเลยจึงยังเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๒๖๔, ๒๖๘, ๓๔๑, ๙๑
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางบัว จันทร์ศิริพรชัย ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐, ๓๖๔, ๓๖๘ และ ๓๔๑ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ ซึ่งเป็นบทหนักประกอบด้วยมาตรา ๒๖๔, ๙๐ จำคุก ๑ ปี๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนฟ้องศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๔ และ ๓๖๘ เป็นความผิดต่อแผ่นดิน โจทก์ร่วมไม่อาจขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๕ ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด และจำเลยไม่คัดค้าน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมและจำเลยได้ยอมความกันแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานนี้ย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๒)ให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๔ วรรคสอง, ๓๖๘ วรรคสอง จำคุก ๑ ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฏหมายว่า ระหว่างการพิจารณษของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร่วมขอถอนฟ้อง ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ความเสียหายของโจทก์ร่วมจึงเป็นอันยุติ การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔และ ๒๖๘ จึงไม่เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นคือโจทก์ร่วมคดีนี้การกระทำของจำเลยขาดองค์ประกอบความผิดมาตรา ๒๖๔และ ๒๖๘ จำเลยจึงไม่มีความผิด นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังมาเป็นยุติว่าโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาท ไม่ใช่ขายให้จำเลยโดยจดทะเบียนเป็นยกให้ การที่จำเลยหลอกลวงโจทก์ร่วมให้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ แล้วจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนที่พิพาทเป็นของจำเลยผิดไปจากเจตนาที่แท้จริงของโจทก์ร่วม อันถือได้ว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วแม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ร่วมจะขอถอนฟ้องศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาโจทก์ร่วมจะขอถอนฟ้อง ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ แต่ความผิดตามมาตรา ๒๖๔ และ ๒๖๘เป็นความผิดต่อแผ่นดิน โจท์ร่วมไม่อาจขอถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๕ดังนี้ ก็ไม่ทำให้การกระทำผิดของจำเลยซึ่งสำเร็จไปแล้ว กลับเป็นขาดองค์ประกอบไปอีก ทั้งการกระทำของจำเลยไม่เพียงก่อให้เกิดความเสียหายเฉพาะโจทก์ร่วมเท่านั้น แต่ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยทำปลอมขึ้นเป็นหนังสือมอบอำนาจที่แท้จริง จึงยอมทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนที่พิพาทของโจทก์ร่วมให้จำเลย ฉะนั้น เจ้าพนักงานที่ดินย่อมได้รับความเสียหายด้วย การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานทำและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ วรรคสอง, ๒๖๘ วรรคสอง
พิพากษายืน.

Share