คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5084/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยหลอกลวงว่าจำเลยสามารถส่งคนไปทำงานในประเทศคูเวตได้โดยเรียกค่าบริการคนละ 30,000 บาท ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยไป ความจริงจำเลยไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศได้แต่อย่างใด ในขณะที่จำเลยพูดหลอกลวงนั้นมีคนอื่นอีก 8 คนอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยพาผู้เสียหายไปอยู่ในบ้านซึ่งจำเลยเช่าให้คนหางานพักอาศัยอยู่ประมาณ 30-40 คน พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไปจำเลยจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก
ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศหรือได้ส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศมาบ้างแล้วประกอบกับทางพิจารณารับฟังได้ว่าจำเลยมิได้เจตนาจัดหางานให้แก่คนหางานแต่ประการใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 30, 82.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑,๓๔๓, ๙๑ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา๓๐, ๘๒ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ ๓๐,๐๐๐ บาทและนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๓๐ ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ ให้จำคุก ๕ ปี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๘๒ อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก๓ ปี รวมจำคุก ๘ ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๕ ปี ๔ เดือน ให้จำเลยชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ส่วนที่ขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๔๕/๒๕๓๐ ให้ยกเพราะศาลยังไม่ได้พิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ ให้จำคุกมีกำหนด ๒ ปี ยกฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ วรรคแรกหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยหลอกลวงว่าจำเลยสามารถส่งคนไปทำงานในประเทศคูเวต ได้ จำเลยเรียกค่าบริการคนละ ๓๐,๐๐๐ บาท ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยไป ความจริงจำเลยไม่สามารถส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศได้แต่อย่างใดและมิได้ดำเนินการติดต่อกับบริษัทหรือหน่วยงานใด ๆในต่างประเทศ ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนายสายันต์ผู้เสียหายว่า ในขณะที่จำเลยพูดหลอกลวงนั้นมีคนอื่นอีก ๘ คน อยู่ในสถานที่เกิดเหตุคือบริษัทกุหลาบไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานให้แก่คนหางาน ต่อมาวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๙ จำเลยได้พานายสายันต์ผู้เสียหายกับพวกอีกประมาณ ๑๐ คนไปที่สนามบินดอนเมือง แล้วจำเลยบอกว่าเครื่องบินเต็มไม่สามารถไปทำงานต่างประเทศได้ นัดให้มาใหม่ในวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกันโดยบอกว่าจะไปทำงานในต่างประเทศในวันดังกล่าว ครั้นถึงวันนัดจำเลยไม่ได้พาไปที่สนามบินดอนเมืองแต่พาไปพักอาศัยอยู่กับบิดาของจำเลยที่จังหวัดสุพรรณบุรีพักอยู่ นาน ๓ เดือนเศษ จำเลยจึงพามาอยู่ที่ซอยลาดพร้าว ๓๐ โดยให้อยู่กับนายเหมผู้เสียหายอีกคนหนึ่งในบ้านซึ่งจำเลยเช่าให้คนหางานพักอาศัยอยู่ประมาณ ๓๐ ถึง ๔๐ คน ตามพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมานี้ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน ซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไปหาได้มีเจตนาโดยจำเลยเฉพาะผู้เสียหายทั้งสองเท่านั้นไม่ ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยเช่าบ้านให้คนหางานพักอาศัยอยู่ประมาณ ๓๐ ถึง ๔๐ คน และได้พาคนหางานประมาณ ๑๐ คนไปยังสนามบินดอนเมืองพร้อมกับผู้เสียหายทั้งสองด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏตามคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมายจ.๓ ซึ่งจำเลยยอมรับว่ามีการประกาศแก่บุคคลทั่วไปจริง จึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ วรรคแรก
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศหรือได้ส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศมาบ้างแล้วประกอบกับทางพิจารณารับฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาจัดหางานให้แก่คนหางานแต่ประการใด จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๓ วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุก ๓ ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๒ ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share