คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4810/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 63 บัญญัติว่าหากรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดให้มีการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นนอกจากการเช่านาก็ให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นอีก แสดงว่ากฎหมายยังไม่ประสงค์จะคุ้มครองการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นนอกจากการเช่านา ฉะนั้นการที่จำเลยเช่าที่ดินโจทก์เพื่อเลี้ยงปลา ซึ่งไม่ใช่การเช่าที่ดินเพื่อทำนาจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเพื่อเลี้ยงกลา ครบกำหนดโจทก์ทั้งสี่ได้บอกกล่าวให้จำเลยออกไป จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนออกไปจากที่ดินพิพาท และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าตามฟ้องแล้ว โจทก์ที่ ๑ยอมให้จำเลยเช่าต่อไปโดยไม่มีกำหนดเวลา จำเลยเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตวน้ำได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ มาตรา ๒๖ อายุสัญญาเช่าจึงครบกำหนดในปี๒๕๓๐ โจทก์บอกเลิกสัญญาไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความท้ากันเป็นประเด็นแพ้ชนะโดยให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายว่า การเช่าที่ดินพิพาทเพื่อเลี้ยงปลาของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ หรือไม่ หากได้รับความคุ้มครอง โจทก์ยอมแพ้คดีทั้งหมด หากไม่ได้รับความคุ้มครอง จำเลยยอมแพ้คดี และยอมให้บังคับคดีไปตามคำขอท้ายฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การเช่าที่ดินพิพาทเพื่อเลี้ยงปลาของจำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเช่าทที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ พิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ ส่งมอบที่ดินคืนให้โจทก์ในสภาพดี และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัจว่า คดีนี้ปัญหามีว่า การเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงปลาของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้คำว่า”เกษตรกรรม” ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ นั้นหมายความรวมถึงการเลี้ยงสัตว์น้ำดังเช่นกรณีของจำเลยด้วยก็ตาม แต่คำว่า “นำ” และ “ทำนา” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา ๒๑ หมายความว่า “ที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่” และ “การเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่”ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา ๒๒ บัญญัติไว้ว่า “ให้การเช่านามีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ฟ้องร้องบังคับคดีกับได้ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม” ตามบัญญัติมาตราดังกล่าวมาแล้ว ย่อมเห็นได้ชัดว่าการเช่าที่ดินที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จะต้องเป็นการเช่านากล่าวคือเช่าที่ดินเพื่อทำนาทั้งหมดหรือเป็นส่วนใหญ่เพื่อปลูกข้าวหรือพืชไร่ส่วนกรณีของจำเลยเป็นการเช่าที่ดินพิพาทเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำเท่านั้นมิได้เช่าที่ดินพิพาทเพื่อปลูกข้าวหรือพืชไร่ ทั้งตามมาตรา ๖๓วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทใด นอกจากการเช่านาเป็นช่องทางให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรผู้เช่าโดยไม่เป็นธรรมจนเกิดความเดือดร้อนและเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศเมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดให้การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว ก็ให้มีอำนาจกระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา…” ซึ่งหมายความว่า การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น นอกจากการเช่าเพื่อทำนาเช่นการเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงปลาดังกรณีของจำเลย หากมีการเอารัดเอาเปรียบแก่ผู้เช่าโดยไม่เป็นธรรม และรัฐบาลเห็นควรให้การเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงปลาดังกล่าวมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้ก็ทำให้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาขึ้น ดังนั้นจำเลยซึ่งเช่าที่ดินพิพาทเพื่อเลี้ยงปลา จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาไว้ แต่ไม่ปรากฏว่าตั้งแต่ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว บังคับจนกระทั่งปัจจุบันได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกมาใช้บังคับให้มีการควบคุมการประกอบเกษตรกรรมประเภทใด แสดงว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่ประสงค์ให้มีการควบคุมคุ้มครองการเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ (ปลา) เช่นเดียวกับการเช่านาเพื่อทำนาปลูกข้าวหรือพืชไร่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๖ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทเพื่อเลี้ยงปลามาก่อนมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ บังคับและตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ ก็มิได้บัญญัติว่าการทำนาให้รวมถึงการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยทั้งตามมาตรา ๖๓ แห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ ก็บัญญัติให้ความคุ้มครองเฉพาะการเช่านารายที่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ เท่านั้นที่ให้ถือว่าเป็นการเช่านาอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๒๔ต่อไป ดังนั้นจำเลยซึ่งเช่าที่ดินพิพาทเพื่อเลี้ยงปลา ไม่ใช่เพื่อทำนา จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๒๔ จำเลยจึงต้องแพ้คดีตามคำท้า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share