คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้ใช้ จ้าง วาน หรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 คำบรรยายฟ้องโจทก์ไม่ได้ขัดแย้งกันและเป็นการยืนยันว่าเหตุเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือเป็นตัวการก็ตามฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๒ ค – ๔๘๑๘ กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๑ จ – ๐๙๗๗ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ ๒ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ โดยเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๒ ผู้ครองครองควบคุมรถยนต์คันดังกล่าว และเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๑ อีกทั้งเป็นผู้ใช้ จ้าง วาน หรือมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันนี้ในขณะเกิดเหตุ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๒๗ จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันนี้โดยประมาทตัดหน้ารถยนต์หมายเลขทะเบียน ๒ ค – ๔๘๑๘ เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกันและรถยนต์หมายเลขทะเบียน ๒ ค – ๔๘๑๘ กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยนำไปซ่อมแซมเสียค่าซ่อม ๖,๔๑๐ บาท จึงรับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๖,๘๕๓.๓๔ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงิน ๖,๔๑๐ บาท นับแต่วันถัดวันจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ ๑ไม่ประมาท เหตุเกิดจากความประมาทของคนขับรถฝ่ายโจทก์ จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงิน ๖,๔๑๐ บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๒๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ ๑ ทั้งเป็นผู้ใช้ จ้าง วาน หรือมอบหมายให้จำเลยที่ ๑ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือที่ได้มอบหมายจากจำเลยที่ ๒ ในขณะเกิดเหตุ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมานี้มิได้ขัดแย้งกันและเป็นการยืนยันว่าเหตุเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ไม่ว่าจำเลยที่ ๒ จะเป็นนายจ้างหรือเป็นตัวการก็ตาม เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๗ได้บัญญัติไว้ให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา ๔๒๕ และ ๔๒๖ ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของนายจ้างเพื่อผลแห่งละเมิดของลูกจ้างซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างบังคับแก่กรณีตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลมฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พิพากษายืน.

Share