แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ทำการต่อเติมดัดแปลงอาคารในส่วนด้านหลังของอาคารจริง แต่มิได้ทำเชื่อมปิดคลุมทางเดินด้านหลังอาคารตามฟ้องโจทก์จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าไม่ต้องขออนุญาตจากใคร เนื่องจากได้ต่อเติมอาคารของตนเองในที่ดินของตนเอง และอาคารใกล้เคียงก็ได้มีการต่อเติมไว้ก่อนแล้วเช่นกันจำเลยจึงต้องต่อเติมอาคารของตนเองด้วยเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย โดยจำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ไม่ได้ต่อเติมอาคารด้านหลังเป็นแนวไปถึงรั้วหลังอาคารทั้งสองด้าน และมุงหลังคากระเบื้องตามฟ้อง คำให้การของจำเลยมีผลเท่ากับเป็นการรับว่าได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22 และฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 76 (4) แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ต่อเติมตึกแถวโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบจึงดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ ๑ คดีถึงที่สุดศาลพิพากษาปรับ ๑,๕๐๐ บาท โจทก์มีหนังสือสั่งให้จำเลยที่ ๑ ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติม จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารตึกแถวส่วนที่ต่อเติม ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๐, ๔๑, ๔๒ โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองต่อเติมโดยสุจริตขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์จำเลย จึงให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้ต่อเติมอาคารตึกแถวด้านหลังโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องจริงจำเลยต่อสู้เพียงว่าได้ทำการต่อเติมโดยสุจริต เข้าใจว่าไม่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ ห้ามผู้ใดดัดแปลงอาคาร เว้นแต่เจ้าของอาคารจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังนั้น การต่อเติมดัดแปลงอาคารของจำเลยจึงเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย อาคารที่จะทำการซ่อมแซมหรือดัดแปลงในแนวอาคาร และระยะที่เกินกว่า ๒.๐๐ เมตร นั้น จะต้องเป็นอาคารที่ได้ก่อสร้างมาก่อน พ.ศ. ๒๕๒๒ และจะกระทำได้เพียงซ่อมแซมหรือดัดแปลงเท่านั้น ห้ามต่อเติมหรือขยาย จำเลยทั้งสองได้ต่อเติมและขยายจากอาคารตึกแถวออกมาเป็นห้องน้ำ และห้องครัวในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงเป็นการขัดต่อข้อห้ามดังกล่าว และไม่อยู่ในข้อยกเว้น พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนอาคารตึกแถวส่วนที่ต่อเติมดัดแปลงออกจากอาคารตึกแถวเลขที่ ๒๒๙/๒๖ ซอยทวีวัฒนา ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๔๒๔๒โดยให้มีที่ว่างนับจากแนวเขตด้านหลังถึงตัวอาคารไม่น้อยกว่า ๒.๐๐เมตร ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนได้เองตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๒ โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองต่อเติมดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีเพียงว่า จำเลยทั้งสองได้ทำการต่อเติมดัดแปลงอาคารในส่วนด้านหลังของอาคารจริง แต่มิได้ทำเชื่อมปิดคลุมทางเดินด้านหลังอาคารตามฟ้องโจทก์ และให้การต่อไปว่า จำเลยเข้าใจโดยสุจิรตว่าไม่ต้องขออนุญาตจากใคร เนื่องจากได้ต่อเติมอาคารของตนเองในที่ดินของตนเอง และอาคารใกล้เคียงก็ได้มีการต่อเติมไว้ก่อนแล้วเช่นกัน จำเลยจึงต้องต่อเติมอาคารของตนเองด้วยเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงมีผลเท่ากับยอมรับตามฟ้องว่าได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ซึ่งห้ามผู้ใดดัดแปลงอาคาร เว้นแต่เจ้าของอาคารจะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และยอมรับว่าได้ทำการต่อเติมอาคารในส่วนด้านหลังจริงตามฟ้อง แต่อ้างว่าไม่ได้เชื่อมปิดคลุมทางเดินด้านหลังอาคารเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันจำเลยก็ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ต่อเติมอาคารด้านหลังเป็นแนวไปถึงรั้วหลังอาคารทั้งสองด้านและมุงหลังคากระเบื้องตามฟ้อง จึงเท่ากับจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวตามฟ้อง อันมีผลเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๗๖(๔) ซึ่งบัญญัติให้อาคารตึกแถวดังกล่าวของโจทก์ ต้องมีที่ว่างโดยปราศจากสิ่งปกคลุมเป็นทางเดินหลังอาคารได้ถึงกันกว้างไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ เมตร ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คำว่า “ทางเดิน” ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครมีเจตนาเพื่อที่จะให้ใช้ทางเดินด้านหลังอาคารเป็นทางเดินสาธารณะซึ่งจำเลยทั้งสองก็ไม่มีเจตนาที่จะใช้ที่ว่างด้านหลังอาคารเป็นทางเดินสาธารณะ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรื้อถอนอาคารตามฟ้องแปลความหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำการฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนั้น ความข้อนี้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้คดีโจทก์ไว้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๙ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยที่ศาลล่างทั้งสองงดสืบพยานโจทก์จำเลย และพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.