คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2268/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้มีอายุ 16 ปีเศษ ซึ่งฟ้องขอให้จำเลยผู้เป็นบิดารับรองโจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยในคดีเดียวกันนี้ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสอง ให้อำนาจเด็กที่มีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ อีกทั้งขณะยื่นฟ้องโจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 และการฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู เป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้ว และเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตรนั่นเอง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย
การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายใน 30 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบเพราะตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว เพื่อให้บันทึกในทะเบียนเท่านั้น ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในคำฟ้องจึงเป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลยโดยจำเลยและมารดาโจทก์ได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งมารดาโจทก์อาจตั้งครรภ์ได้ และมีพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรของจำเลย ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะบรรละนิติภาวะ
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินควร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุตรของจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายในกำหนด ๓๐ วัน ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท จนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ข้อพิจารณาต่อไปมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลยได้หรือไม่เพียงใด ในประการแรกที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นบิดาหรือไม่นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๕๖ วรรคสอง ได้บัญญัติไว้แล้วว่า “เมื่อเด็กมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์ เด็กต้องฟ้องเอง ทั้งนี้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม” แสดงว่ากฎหมายให้อำนาจเด็กฟ้องคดีให้รับรองเด็กเป็นบุตรได้เองโดยเฉพาะ อีกทั้งขณะยื่นฟ้อง โจทก์ก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย คดีของโจทก์จึงไม่เป็นคดีอุทลุม ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒ และดังนั้น ฟ้องของโจทก์ในเรื่องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นผลหลังจากที่มีการรับรองความเป็นบุตรของโจทก์แล้วและเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการรับรองบุตรนั่นเอง โจทก์จึงไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีในประการหลังด้วย และศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูว่า ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท จนกว่าโจทก์จะบรรลุนิติภาวะนั้น นับว่าเหมาะสมแล้วแต่ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายในกำหนด ๓๐ วัน ถ้าไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นไม่ชอบ เพราะตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๒๐ บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้ว เพื่อให้บันทึกในทะเบียนเท่านั้น ประกอบกับโจทก์มิได้มีคำขอบังคับดังกล่าวมาในคำฟ้อง จึงเป็นกรณีที่พิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคแรก
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนที่บังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนรับรองบุตรนั้นให้ยกเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share