คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2050/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารที่ต่อเติมมีกำหนด 150 วัน (นับตั้งแต่ วันที่ 29 สิงหาคม 2530 จนถึงวันฟ้อง) และมีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอศาลได้สั่งปรับจำเลยตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวด้วย เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะได้บรรยายแล้วว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งมีกำหนดถึงวันฟ้องกี่วัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้สั่งปรับจำเลยตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนมาด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ จึงอ้างว่าไม่สามารถเข้าใจข้อหาได้ดีไม่ได้
พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 65, 70 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าให้ปรับได้ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร และโจทก์ก็ขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย การที่ศาลพิพากษาในปัญหานี้จึงไม่เกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒, ๔๐, ๔๒, ๖๕, ๗๐, ๗๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ข้อ ๑(๔) ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๗๖(๔) ปรับจำเลยตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่ง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒, ๔๐, ๔๒, ๖๕, ๗๐, ๗๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ลงโทษฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๔๐,๐๐๐ บาท ฐานไม่ระงับการก่อสร้าง จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๔๐,๐๐๐ บาท ฐานไม่รื้อถอนปรับวันละ ๕,๐๐๐ บาท รวม ๑๕๐ วัน ปรับ ๗๕๐,๐๐๐ บาท รวมจำคุก ๑ ปีปรับ ๘๓๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๔๑๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกรอไว้มีกำหนด ๒ ปี จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙, ๓๐ และให้ปรับอีกวันละ ๕,๐๐๐ บาท จนกว่าจะรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลง
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งระงับการก่อสร้างอาคาร รวมเป็นโทษจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๗๙๐,๐๐๐ บาทลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๓๙๕,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ หรือไม่ และศาลพิพากษาลงโทษเกินคำขอหรือไม่ พิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้วโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งมีกำหนด ๑๕๐ วัน(นับตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๐ จนถึงวันฟ้อง) และมีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอศาลได้สั่งปรับจำเลยตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งด้วย เห็นว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้วเพราะได้บรรยายว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งมีกำหนดถึงวันฟ้องกี่วัน และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้สั่งปรับจำเลยตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องมาอีกด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ จึงอ้างว่าไม่สามารถเข้าใจข้อหาได้ดีไม่ได้
ปัญหาว่า ศาลพิพากษาลงโทษเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๕, ๗๐ ได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าให้ปรับได้ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน ทั้งโจทก์ก็ขอมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า ขอศาลได้สั่งปรับจำเลยตลอดระยะเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งด้วย ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในปัญหานี้มาจึงไม่เกินคำขอและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายืน.

Share