แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในข้อหาใดบ้าง แล้วจึงถามคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงตามฟ้อง แสดงว่ารับสารภาพในทุกข้อหาที่โจทก์บรรยายในฟ้องและศาลอาจลงโทษจำเลยในทุกข้อหาดังกล่าวได้ ดังนี้ ศาลชั้นต้นไม่จำต้องถามจำเลยต่อไปอีกว่าจำเลยรับสารภาพในข้อหาใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อีกฝ่ายหนึ่ง ได้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้โดยต่างฝ่ายต่างร่วมกันทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ได้รับอันตรายสาหัส และเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๒๙๕, ๒๙๗(๑) (๘), ๒๙๙ วรรคแรก
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ ส่วนจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๙๕, ๒๙๗(๑) (๘), ๒๙๙ วรรคแรก ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๑) (๘) อันเป็นบทหนัก จำคุกคนละ ๘ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ ๔ ปี
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๘๓ ลงโทษจำคุกคนละ๖ เดือน จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ คนละ ๓ เดือน
จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้าหลายข้อหาร่วมกันมา คือ เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส และร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย เมื่อจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงตามฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นหาได้ถามจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้ได้ความชัดเจนต่อไปไม่ว่าจำเลยที่ ๔และที่ ๕ ให้การรับสารภาพในข้อหาใดตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีมาโดยที่ยังมิได้มีการถามจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ให้ได้ความชัดเจนดังกล่าว จึงเป็นการมิชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เกี่ยวกับการถามคำให้การจำเลยนี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง บัญญัติว่าเมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้วและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างคำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการพิจารณาต่อไปตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ และจะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การก็ให้ศาลจดไว้ คดีนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในข้อหาใดบ้าง แล้วจึงถามคำให้การจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงตามฟ้องแสดงว่ารับสารภาพในทุกข้อหาตามที่โจทก์บรรยายในฟ้อง และศาลอาจลงโทษจำเลยในทุกข้อหาดังกล่าวได้ ดังนี้ศาลชั้นต้นไม่จำต้องถามจำเลยทั้งสองต่อไปอีกว่า จำเลยทั้งสองรับสารภาพในข้อหาใดศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ขอให้ลงโทษในสถานเบา และรอการลงโทษให้แก่จำเลยด้วยนั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษ กับให้ลงโทษจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ โดยไม่รอการลงโทษ เป็นการเหมาะสมแก่สภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เหตุต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างมาว่าจำเลยรับจ้างเป็นลูกจ้างประจำแห่งกองทัพอากาศผู้บังคับบัญชามีหนังสือรับรองความประพฤติ ไม่เคยกระทำผิดมาก่อนและฝ่ายจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีมากกว่านั้น ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวได้ฎีกาของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.