คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1 อ้างว่าเนื่องจากโจทก์ที่ 1 มีสติไม่บริบูรณ์เหมือนคนธรรมดาและคล้ายกับปัญญาอ่อน แต่พฤติการณ์ที่ปรากฏในสำนวนยังไม่พอฟังว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเช่นนั้น อันจะเป็นข้ออ้างที่มีเหตุสำคัญในการไม่ยอมจดทะเบียนสมรส จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น
จำเลยทั้งสามตกลงรับหมั้นจากฝ่ายโจทก์พร้อมทั้งรับของหมั้นไว้เรียบร้อยแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 มอบของหมั้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1อันเป็นการผิดสัญญาหมั้น จำเลยทั้งสามซึ่งรับของหมั้นไว้ก็ต้องร่วมกันคืนของหมั้นแก่ฝ่ายโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองทำสัญญาหมั้นกับจำเลยทั้งสาม โดยโจทก์ที่ ๑ หมั้นกับจำเลยที่ ๓ โจทก์ทั้งสองมอบเงินสด ๕๐,๔๔๔ บาททองรูปพรรณหนัก ๑๒ บาท แหวนเพชร ๑ วง ราคา ๒๕,๐๐๐ บาท ตุ้มหู๑ คู่ ราคา ๓,๖๐๐ บาท ให้แก่จำเลยทั้งสาม หลังจากนั้นโจทก์ที่ ๑กับจำเลยที่ ๓ ทำพิธีแต่งงานกัน ต่อมาโจทก์ที่ ๑ ชวนจำเลยที่ ๓ ไปจดทะเบียนสมรส จำเลยที่ ๓ ผัดผ่อนเรื่อยมา และต่อมาจำเลยที่ ๓ไม่ยอมอยู่กินกับโจทก์ที่ ๑ ขอให้จำเลยทั้งสามคืนของหมั้นให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน ๑๒๗,๐๔๔ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ที่ ๑ หมั้นกับจำเลยที่ ๓ จริงของหมั้นจำเลยที่ ๓ รับไว้โดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มิได้เกี่ยวข้องด้วย ก่อนหมั้นตกลงกันว่าต่างฝ่ายจะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แต่เมื่อหมั้นและเข้าพิธีแต่งงานแล้ว จำเลยทั้งสามจึงทราบว่าโจทก์ที่ ๑ มีสติสัมปชัญญะไม่บริบูรณ์ เป็นคนปัญญาอ่อนมีสติฟั่นเฟือนคล้ายคนวิกลจริต จำเลยที่ ๓ ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสซึ่งเหตุสำคัญเกิดจากโจทก์ที่ ๑ ของหมั้นจึงตกได้แก่จำเลยที่ ๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนของหมั้นทั้งหมดแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินตามราคาทรัพย์ส่วนที่คืนไม่ได้ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ ๑ได้หมั้นจำเลยที่ ๓ โดยมีของหมั้นคือเงินสด ๕๐,๔๔๔ บาท ทองรูปพรรณหนัก ๑๒ บาท ราคา ๔๘,๐๐๐ บาท แหวนเพชร ๑ วง ราคา ๒๕,๐๐๐ บาทตุ้มหู ๑ คู่ ราคา ๓,๖๐๐ บาท ต่อมาได้ทำพิธีแต่งงานกัน แต่จำเลยที่ ๓ ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสและไม่ยอมอยู่กินกับโจทก์ที่ ๑มีข้อต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามประการแรกว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ สำหรับข้ออ้างของจำเลยที่ ๓ ที่ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ ๑ เนื่องจากโจทก์ที่ ๑ มีสติไม่บริบูรณ์เหมือนคนธรรมดาทั่วไป และคล้ายคนปัญญาอ่อน เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสามนำสืบมามีแต่จำเลยที่ ๓ กล่าวหาโจทก์เช่นนั้น ส่วนพยานอื่นเพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าจากตัวจำเลยที่ ๓ ถึงแม้โจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ เพิ่งรู้จักกันก่อนจะมีการหมั้นไม่นาน เนื่องจากมีผู้แนะนำให้รู้จักกัน แต่จำเลยที่ ๓ ก็เคยไปบ้านของโจทก์ที่ ๑พยานอื่นของฝ่ายจำเลยที่เห็นโจทก์มาก่อน ก็ไม่มีใครเห็นว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นคนสติไม่บริบูรณ์หรือมีการกระทำในลักษณะของคนปัญญาอ่อน ทั้งตัวโจทก์ที่ ๑ เองดำเนินกิจการค้าเพื่อเลี้ยงชีพแม้จะทำร่วมกับญาติพี่น้อง ก็ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๑ สามารถที่ประกอบกิจการค้าได้ ตัวจำเลยที่ ๓ เมื่อตอนอยู่กินกับโจทก์ที่ ๑หลังจากทำพิธีแต่งงานใหม่ ๆ ก็ยังได้ช่วยขายของในร้านของโจทก์ที่ ๑ด้วย พฤติการณ์ที่ปรากฏในสำนวนไม่พอฟังว่าโจทก์ที่ ๑ เป็นคนสติไม่บริบูรณ์หรือมีการกระทำคล้ายคนปัญญาอ่อน อันจะเป็นข้ออ้างที่มีเหตุสำคัญในการไม่ยอมจดทะเบียนสมรส เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยทั้งสามจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาอีกข้อหนึ่งที่ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๓ หรือไม่ โดยอ้างว่าของหมั้นทั้งหมดจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ได้มอบให้แก่จำเลยที่ ๓ เห็นว่า แม้จะเป็นจริงอย่างข้ออ้างของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ แต่ปรากฏว่าในการหมั้นรายนี้จำเลยทั้งสามได้ตกลงรับหมั้นจากฝ่ายโจทก์ พร้อมทั้งรับของหมั้นไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อจำเลยที่ ๓ ไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ ๑ อันเป็นการผิดสัญญาหมั้น จำเลยทั้งสามซึ่งรับของหมั้นไว้ จำต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share