คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4193/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสี่มิได้ร่วมกันฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดอย่างเจ้าหนี้ร่วม แต่ละคนต่างเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับเท่านั้น แม้จะอาศัยมูลละเมิดเดียวกัน คดีสำหรับโจทก์คนใดจะอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ต้องแยกพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ตามที่โจทก์คนนั้น ๆ เรียกร้อง เมื่อโจทก์ที่ 4 เรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน 9,000 บาท คดีสำหรับโจทก์ที่ 4 จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 4 จะอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ 4 สูงไป และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 4 มีสิทธิฎีกาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 4
สัญญาประกันภัยที่ผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบอันมีลักษณะเป็นประกันภัยค้ำจุนนั้น มิได้เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยตกลงกันว่าจะให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยควรจะได้รับ ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่เคยแสดงเจตนาแก่ผู้รับประกันภัยว่าจะเอาประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนั้นก็มีอำนาจฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 วรรคสอง กรณีจะปรับด้วยมาตรา 374 ไม่ได้
กรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.14 มีข้อความว่า “ข้อสัญญาพิเศษภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือข้อ 2.13 หรือเงื่อนไขทั่วไป เว้นแต่ข้อ 1.2 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 (ความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะ) หรือข้อ 2.2 (ความรับผิดต่อผู้โดยสาร) ” ดังนั้น จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจะเอาเงื่อนไขทั่วไปข้อ 1.8 ที่ว่า “ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่นำหลักฐานมาแสดงต่อบริษัทเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดอุบัติเหตุเคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์” มาต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกเล็กหมายเลขทะเบียน น-๕๑๙๒ อุบลราชธานี ขณะเกิดอุบัติเหตุมีโจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ขับรถ และโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ เป็นผู้นั่งไปกับรถส่วนจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน ๑๐-๐๔๕๘ กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของรถและนำรถเข้าร่วมประกอบกิจการกับจำเลยที่ ๓ และมีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้รับประกันภัยรถคันดังกล่าว เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๕ รถยนต์บรรทุกเล็กคันหมายเลขทะเบียน น-๕๑๙๒ อุบลราชธานี ได้ชนกับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ๑๐-๐๔๕๘ กรุงเทพมหานคร โดยรถยนต์โดยสารเป็นฝ่ายประมาท โจทก์ที่ ๑ เสียหาย ๑๓๘,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ เสียหาย ๖๑,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๓ เสียหาย ๖๑,๐๐๐ บาท และโจทก์ที่ ๔ เสียหาย ๙,๐๐๐ บาท ขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลอนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดเพราะโจทก์ที่ ๒ ขับรถประมาท โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยติดต่อเรียกร้องจะถือเอาประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันภัย จึงไม่มีอำนาจฟ้องผู้เอาประกันภัยรายนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายไม่มากดังฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันใช้เงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท ๓๐,๐๐๐ บาท ๑๐,๐๐๐ บาท และ ๕,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ ๒ ถอนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…ฯลฯ…อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อฝ่ายเดียว ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสี่ไม่เคยแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ ๔ ว่า จะเอาประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๔ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ ๔ รับผิดนั้นเห็นว่ากรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ทั้งสี่นำมาเป็นข้ออ้างให้จำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัยรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่ เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ ๔ ผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอื่นซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ อันมีลักษณะเป็นประกันภัยค้ำจุนมิได้เป็นสัญญาประกันภัยซึ่งจำเลยที่ ๔ กับผู้เอาประกันภัยตกลงกันว่าจะให้บุคคลภายนอกได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยควรจะได้รับ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๔ ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๘๗ วรรคสอง กรณีจะปรับด้วยมาตรา ๓๗๔ ไม่ได้ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…ฯลฯ…และที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า ผู้เอาประกันภัยปฏิบัติผิดเงื่อนไขทั่วไปตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ ๑.๘ ที่มีข้อความว่า”ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่นำหลักฐานมาแสดงต่อบริษัทเพื่อพิสูจน์ว่าผู้ขับรถยนต์ในขณะเกิดอุบัติเหตุเคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์”จำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่นั้น ปรากฏว่ากรมธรรม์ประกันภัยข้อ ๒.๑๔ มีข้อความว่า”ข้อสัญญาพิเศษ ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือข้อ ๒.๑๓ หรือเงื่อนไขทั่วไป เว้นแต่ข้อ ๑.๒ เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ ๒.๑ (ความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะ) หรือข้อ ๒.๒ (ความรับผิดต่อผู้โดยสาร) ” ดังนั้น จำเลยที่ ๔ จะเอาเงื่อนไขทั่วไปข้อ ๑.๘ มาต่อสู้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ ผู้เอาประกันภัยปฏิบัติผิดเงื่อนไขทั่วไปข้อ ๑.๘ ดังที่จำเลยที่ ๔ อ้างหรือไม่ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…ฯลฯ…ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๔ ไม่มีหลักฐานว่าได้เสียค่ารักษาพยาบาลมาแสดงและค่าขาดรายได้จากการทำงานก็เบิกความลอย ๆ โจทก์ที่ ๔ จึงไม่ควรได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้นเห็นว่า โจทก์ทั้งสี่มิได้ร่วมกันเรียกร้องให้จำเลยรับผิดอย่างเจ้าหนี้ร่วม แต่ละคนต่างเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับเท่านั้น แม้จะอาศัยมูลละเมิดเดียวกัน คดีสำหรับโจทก์คนใดจะอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ ต้องแยกพิจารณาจำนวนทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่โจทก์คนนั้น ๆ เรียกร้อง ปรากฏว่าโจทก์ที่ ๔ เรียกร้องให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน ๙,๐๐๐ บาท คดีสำหรับโจทก์ที่ ๔ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๔ ที่อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ที่ ๔ สูงไปก็ไม่ทำให้จำเลยที่ ๔ มีสิทธิฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาข้อนี้
พิพากษายืน.

Share