คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3912/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎกระทรวง ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2527) ซึ่งออกตามความในมาตรา 5 และมาตรา 7 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522ที่กำหนดว่า รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่จะขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะต้องเป็นรถที่ได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลหรือได้แจ้งย้ายเข้ามาในกรุงเทพมหานครก่อนหรือในวันที่ 19 สิงหาคม 2525 นั้น เป็นเรื่องกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างเป็นรถยนต์สาธารณะที่มิใช่ได้รับการจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะอยู่แล้วในขณะนั้น เมื่อรถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่มีลักษณะ ขนาด และกำลังของเครื่องยนต์และของรถเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นรถยนต์สาธารณะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2524) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2527) และได้รับการจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะมาก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2514 โดยไม่ปรากฏว่าการจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือขัดต่อระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ในขณะนั้นแต่อย่างใด ทั้งได้มีการเสียภาษีประจำปีและได้รับการต่อทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างสาธารณะตลอดมา โจทก์เจ้าของรถย่อมมีสิทธิจะจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีรถยนต์ของโจทก์ในประเภทรถยนต์โดยสารสาธารณะต่อไปได้จำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนจะปฏิเสธหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. ๒๕๒๒ ในเขตจังหวัดภูเก็ต โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ร-๐๑๑๒ ซึ่งเป็นรถยนต์ประเภทสี่ล้อเล็กรับจ้าง และเป็นรถยนต์ที่มีลักษณะ ขนาด และกำลังของเครื่องยนต์ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้จดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีเป็นรถยนต์โดยสารสาธารณะได้ ทั้งรถของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเป็นรถยนต์โดยสารสาธารณะตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ตลอดมา ครั้นปี พ.ศ. ๒๕๒๘ จำเลยกลับไม่ยอมรับจดต่อทะเบียนให้ ขอให้บังคับจำเลยรับหรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยรับจดต่อทะเบียนเสียภาษีรถยนต์ของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่อาจรับจดต่อทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ได้เนื่องจากกำลังรอคำวินิจฉัยจากกองวิชาการกรมตำรวจในการตีความกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ และฉบับที่ ๒๕ อยู่ ขอให้ยกฟ้อง
วันชี้สองสถาน จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงและโจทก์ส่งเอกสารศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับจดทะเบียนเสียภาษีรถยนต์ของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ร-๐๑๑๒ ภูเก็ต ซึ่งเป็นรถยนต์สี่ล้อเล็กสองตอน มีประตูสามประตู ขนาดกว้าง ๑.๓๐ เมตร ยาว ๓ เมตรเครื่องยนต์มีความจุในกระบอกสูบ ๓๕๐ ลูกบาศก์เซนติเมตร รถยนต์คันดังกล่าวได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๔ ในประเภทรถโดยสารสาธารณะและได้เสียภาษีประจำปีเรื่อยมาจนกระทั่งจะครบกำหนดในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๒๘ ตามสำเนาใบคู่มือการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.๑ ก่อนจะถึงวันดังกล่าว โจทก์ได้ไปขอเสียภาษีประจำปีต่อไป แต่นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดภูเก็ตคนเดิมและจำเลยไม่ยอมรับการเสียภาษีประจำปี โดยอ้างว่ารถยนต์ของโจทก์ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะ
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า รถยนต์ของโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลหรือได้แจ้งย้ายเข้ามาในกรุงเทพมหานครก่อนหรือในวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๕ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๒๗) จึงจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๒๗)ไม่ได้นั้น เห็นว่ารถยนต์ของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเป็นประเภทรถโดยสารสาธารณะมาตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๔ ปรากฏตามสำเนาใบคู่มือการจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.๑ และไม่ปรากฏว่าการจดทะเบียนรถยนต์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือขัดต่อระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ในขณะนั้นแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ก็ได้เสียภาษีประจำปีและได้รับการต่อทะเบียนประเภทรถยนต์รับจ้างสาธารณะเรื่อยมาจนถึงเดือนมีนาคม ๒๕๒๘ รถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์สี่ล้อเล็กที่มีลักษณะ ขนาด และกำลังของเครื่องยนต์และของรถเข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะตามที่ระบุไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) อยู่แล้ว กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๕ (พ.ศ. ๒๕๒๗) ที่กำหนดว่า รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่จะขอจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะต้องเป็นรถที่ได้จดทะเบียนเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลหรือได้แจ้งย้ายเข้ามาในกรุงเทพมหานครก่อนหรือในวันที่ ๑๙ สิงหาคม๒๕๒๕ นั้น เป็นเรื่องกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการจดทะเบียนรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างเป็นรถยนต์สาธารณะที่มิใช่ได้รับการจดทะเบียนเป็นรถยนต์สาธารณะอยู่แล้วในขณะนั้น เมื่อรถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้างที่มีลักษณะ ขนาด และกำลังของเครื่องยนต์และของรถเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นรถยนต์สาธารณะตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๔) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๒๗) และได้รับการจดทะเบียนเป็นรถยนต์โดยสารสาธารณะมาก่อนแล้ว โดยที่การจดทะเบียนนั้นยังมิได้ถูกเพิกถอน โจทก์ย่อมมีสิทธิขอจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีรถยนต์ของโจทก์ในประเภทรถยนต์โดยสารสาธารณะต่อไปได้ จำเลยอ้างเหตุดังกล่าวปฏิเสธไม่ยอมรับการขอจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีรถยนต์ของโจทก์หาได้ไม่
พิพากษายืน.

Share