คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้หางานมิให้เสียเปรียบแก่ผู้จัดหางาน ความผิดของผู้จัดหางานจะเกิดขึ้นต่อเมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานจากเจ้าพนักงาน รัฐจึงเป็นผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียวที่จะดำเนินคดีแก่ผู้จัดหางานที่ไม่ได้รับอนุญาต โจทก์ซึ่งถูกจำเลยหลอกลวงให้จ่ายเงินโดยไม่อาจหางานให้ทำได้ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยให้ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดหางานให้แก่คนงานโดยเรียกและรับค่าบริการจากคนงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยหลอกลวงโจทก์และประชาชนว่าสามารถส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ได้ เป็นเหตุให้โจทก์สมัครไปทำงานโดยเสียเงินให้แก่จำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๙๑ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๗, ๒๗
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๓๐, ๘๒ จำคุก ๓ ปีข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๒๘มาตรา ๓๐, ๘๒ เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งแปดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์ทั้งแปดจะฟ้องจำเลยในข้อหากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. ๒๕๑๑ หรือพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. ๒๕๒๘ ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้หางานมิให้เสียเปรียบแก่ผู้จัดหางาน ความผิดของผู้จัดหางานจะเกิดขึ้นต่อเมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานจากเจ้าพนักงาน รัฐจึงเป็นผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียวที่จะดำเนินคดีแก่ผู้จัดหางานที่ไม่ได้รับอนุญาต คดีนี้โจทก์ทั้งแปดมิได้เสียหายเพราะการที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางาน แต่เสียหายเพราะถูกจำเลยหลอกลวงให้โจทก์ทั้งแปดจ่ายเงินให้โดยไม่อาจหางานให้ทำได้ โจทก์ทั้งแปดจึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยให้ต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานทั้งฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๑ และ พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้ แม้โจทก์ทั้งแปดจะได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนแล้ว โจทก์ทั้งแปก็ไม่มีอำนาจฟ้องด้วยตนเองให้จำเลยต้องรับโทษตามบทกฎหมายดังกล่าวได้
พิพากษายืน.

Share