แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะให้การอย่างใด หรือไม่ให้การเลยก็ได้ แต่ถ้าคำให้การนั้นเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่น บทมาตรานี้ก็หาได้คุ้มครองการกระทำนั้นไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกล่าววาจาใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้๑ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในขณะที่จำเลยตกเป็นผู้ต้องหาเป็นการกล่าวอ้างให้ตนเองพ้นผิด แม้จะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ก็ไม่เป็นความผิ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ผู้ต้องหาจะให้การต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้ซึ่งจำเลยได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ให้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่ เห็นว่าแม้จำเลยจะตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๙ ให้สิทธิผู้ต้องหาจะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ แต่ถ้าคำให้การนั้นเป็นการหมิ่นประมาทผู้อื่นแล้ว บทมาตรานี้ก็หาได้คุ้มครองการกระทำดังกล่าวไม่ การที่จำเลยมีเจตนาใส่ควาหมิ่นประมาทโจทก์ต่อพนักงานสอบสวนย่อมมีความผิดฐานหมิ่นประมาทฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.