คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยิงผู้ตายและผู้เสียหายต่อเนื่องกันทีละคนโดยไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการทารุณโหดร้ายแต่ละคน แม้จะมีผู้ถึงแก่ความตายเพราะถูกจำเลยยิงถึง 7 คน ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (5)
เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมอีกได้ คงให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและกระสุนปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ๗ คน และผู้เสียหาย ๑ คน โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการกระทำทารุณโหดร้าย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๔) (๕), ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๓๒, ๓๓ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๗๒ จำคุก ๑ ปี กระทงหนึ่ง และลงโทษตามมาตรา ๘ ทวิ, ๗๒ ทวิ จำคุก ๖ เดือน กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๕) และมาตรา ๒๘๙ (๔) (๕), ๘๐ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) (๕) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ประหารชีวิตอีกกระทงหนึ่งรวม ๓ กระทง ประหารชีวิตและจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔), ๘๖ ให้จำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาทุกกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ และผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคหนึ่ง, ๗๒ ทวิ วรรคสอง ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ตระเตรียมวางแผนมายิงผู้ตายและผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) แต่การที่จำเลยที่ ๑ ยิงผู้ตายและผู้เสียหายต่อเนื่องกันทีละคนโดยไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการทารุณโหดร้ายแต่ละคนนั้น แม้จะมีผู้ถึงแก่ความตายเพราะถูกจำเลยยิงถึง ๗ คน ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๕) สำหรับจำเลยที่ ๓ นั้นพยานโจทก์ยังไม่พอฟังว่ากระทำผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนดังโจทก์ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตและจำคุกจำเลยที่ ๑ นั้น เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมอีกได้ และเรื่องนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า อาวุธปืนที่จำเลยที่ ๑ มีไว้ในครอบครองเฉพาะกระบอกที่มีหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นของบิดาจำเลยที่ ๑ เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗๒ วรรคสาม โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ปรับบทว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) และ ๒๘๙ (๔) ประกอบมาตรา ๘๐ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๘ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๗๒ วรรคสาม, ๗๒ ทวิ วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ แล้ว จึงไม่นำโทษจำคุกมารวม คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ สถานเดียว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share