คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1011/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ จำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2528 และต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2528 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าวเมื่อโจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 13 เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด และรู้ตัวผู้กระทำความผิด แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือนแต่ยังอยู่ภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 95 คดีของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๒ และ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๘ เวลากลางวัน จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ มีข้อความดูหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยไม่เป็นความจริง ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๘ เวลากลางวัน หนังสือพิมพ์ได้ลงพิมพ์โฆษณาและลงข้อความตามที่จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงและถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากประชาชนคนอ่านหนังสือพิมพ์ทั่วไป โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๘ โจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงตามกฎหมายแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘, ๓๓๒, ๘๓, ๙๑ ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาของศาลทั้งหมดในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน ๕ ฉบับ มีกำหนด ๗ วัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ แต่ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับบรรณาธิการลงพิมพ์ข้อความตามที่โจทก์นำมาฟ้อง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ คงมีความผิดตามมาตรา ๓๒๖ เท่านั้น และโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความแล้ว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๘ โจทก์มาร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๘ ซึ่งเกินกำหนดเวลาสามเดือน นับแต่วันกระทำผิดและโจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องศาลเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เป็นเวลาเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันกระทำความผิด คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๒๘ จำเลยได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์มีข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ ต่อมาวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๘ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้ลงข่าวตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๘ เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแต่จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือเดลินิวส์ฉบับดังกล่าว เห็นว่าอายุความในการร้องทุกข์สำหรับความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ มีกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดประกอบกันทั้งสองประการ กฎหมายหาได้บัญญัติให้นับอายุความร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดไม่ การที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๘ ลงข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ ย่อมต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้กระทำความผิดในวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๖ แล้ว แม้โจทก์จะนำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินสามเดือน แต่โจทก์ก็นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๕ ดังนี้ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share