คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 867/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คไม่ลงวันที่ออกเช็คไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 988 (6) นั้น ไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ถ้าไม่ยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้ในคำให้การ ศาลไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยมีร้อยตำรวจเอกฟุ้ง ระงับภัย นายเฉลิม พานิชสุข และจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด นายเฉลิม พานิชสุข เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาร้อยตำรวจเอกฟุ้ง ระงับภัย และนายเฉลิม พานิชสุข ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นภรรยาของบุคคลทั้งสองตามลำดับเป็นผู้รับมรดกและเข้าถือหุ้น และดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ ๑ แทนผู้ตายโดยมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๒ ตอนนายเฉลิม พานิชสุข ยังมีชีวิตอยู่จำเลยที่ ๑ โดยนายเฉลิม พานิชสุข ได้กู้เงินและสั่งจ่ายเช็คไว้ให้โจทก์ ๓ ฉบับ เป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ฉบับหลังไม่ลงวันที่ ได้ตกลงกันว่าจำเลยที่ ๑ มีเงินชำระเมื่อใดก็จะแจ้งให้โจทก์ทราบและให้ไปรับเงินที่ธนาคาร โดยให้ธนาคารตอกตราวัน เดือน ปี ในเช็คเพื่อรับเงิน ปรากฏตามสำเนาเช็ค ๓ ฉบับ หมาย ๑ ถึง ๓ ท้ายฟ้อง เมื่อเช็คหมาย ๑, ๒ ถึงกำหนด นายเฉลิม พานิชสุข ขอผัด ต่อมานายเฉลิมถึงแก่กรรม โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ ๔๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสี่ผัดผ่อนเรื่อยมา โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ทราบว่าจะนำเช็ค ๓ ฉบับเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๑๓ ครั้นถึงกำหนดโจทก์นำเช็คเข้าบัญชี แต่เรียกเก็บเงินไม่ได้ เพราะธนาคารเจ้าของเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง ๓ ฉบับ จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันและแทนกันใช้หนี้ให้โจทก์ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันให้การว่า ห้างจำเลยที่ ๑ หมดสภาพเป็นนิติบุคคลเพราะการตายของร้อยตำรวจเอกฟุ้ง ระงับภัย และนายเฉลิม พานิชสุข คงมีแต่จำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนอยู่คนเดียว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง นายเฉลิม พานิชสุข ออกเช็คสั่งจ่ายเป็นส่วนตัว จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับเงินที่ยืม ทั้งเป็นการขัดวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ด้วย จำเลยทั้งสี่ไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต้องร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ต้องรับผิดด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันใช้เงิน ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พิพากษาแก้ให้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต้องร่วมรับผิด และไม่วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ว่าเช็คไม่สมบูรณ์ เพราะจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การแต่ต้น และไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์เรื่องค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนก็เห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดให้เหมาะสมแล้ว พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาเพียงว่า เช็คพิพาทเป็นเอกสารที่ลงรายการไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๘ (๖) และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำให้การ ศาลควรวินิจฉัยให้ได้
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาว่าเช็คพิพาทไม่ลงวันที่ออกเช็คไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๘ (๖) นั้น จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้ในคำให้การ และไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว พิพากษายืน

Share