คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 และมาตรา 1144 กรรมการบริษัทจำกัดเป็นผู้แทนของบริษัท มีอำนาจดำเนินกิจการทุกอย่างภายในขอบข่ายแห่งวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัทได้ หาได้มีอำนาจจำกัดเพียงเท่าที่ตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจทั่วไปมีอยู่ไม่ มาตรา 1167 เป็นเรื่องความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอก เป็นต้นว่า กรรมการบริษัทจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวหรือไม่ ดังนี้ จึงจะบังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทน หาได้หมายความว่ากรรมการบริษัทเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปของบริษัทไม่
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 ที่บัญญัติให้ผู้ให้เช่าบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนบอกเลิกสัญญาก็ดี มาตรา 574 ที่บัญญัติว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองคราวติดๆ กัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ก็ดี ไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
จำเลยฎีกาว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยไม่สุจริต นั้น เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัย
สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 8 ที่ว่า ถ้าผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินใดๆ แก่เจ้าของตามข้อสัญญาประการหนึ่งประการใด ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นั้น สำหรับค่าติดตามเอาทรัพย์คืนก็ดี ค่าซ่อมแซมรถก็ดี เป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญา ข้อ 9 อยู่ในความหมายของคำว่าเงินใดๆ ตามสัญญา ข้อ 8 จึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่เงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถนั้น เป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าเงินใดๆ ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 8 จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
การที่โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานที่เป็นลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความโดยถูกต้องเท่าที่จำเป็น หาเป็นการฟุ่มเฟือยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยได้เช่าซื้อรถแทร็กเตอร์ของโจทก์ ๑ คัน เป็นเงินค่าเช่าซื้อ ๕๔๙,๐๐๐ บาท จำเลยชำระเงินแล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือจะแบ่งชำระเป็น ๑๕ งวด จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเกิน ๒ งวด และไม่ส่งรถคืน ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๙ เงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยได้ชำระแล้วจึงถูกริบเป็นของโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยต้องส่งมอบรถคืนให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย เจ้าหน้าที่ของโจทก์ติดตามยึดรถคืนได้ รถติดหล่มจมโคลนอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาครเสียหายชำรุดทรุดโทรมมาก ซึ่งมิได้เกิดจากการใช้ทรัพย์ตามปกติ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการยึดรถคืน ๓๓,๙๗๒ บาท ๕๐ สตางค์ ค่าซ่อมรถ ๑๗๘,๓๘๑ บาท การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถคืน ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้วันละ ๑,๖๐๐ บาท เป็นเวลา ๑๘ เดือนเศษ ของคิดค่าเสียหายเพียง ๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๓๑๒,๓๕๓ บาท ๕๐ สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า กรรมการบริษัทต้องกระทำการเอง ไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงลงนามในสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อเป็นโมฆะ จำเลยมิได้ค้างค่าเช่าซื้อ โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตหาเหตุเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยไม่บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า ตามกฎหมายผู้ให้เช่าซื้อจะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าก่อน และผู้เช่าซื้อต้องค้างชำระค่าเช่าซื้อ ๒ คราวติดๆ กันจึงจะเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ สัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๙ ขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ โจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญากับจำเลย และไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระค่าเสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทรัพย์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพดี ที่เสียหายเกิดจากการกระทำของผู้แทนโจทก์เอง ค่าเสียหายที่เรียกมาสูงเกินความจริง และไม่มีรายละเอียด เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า นางอุษา พรประภา กับ นายเชวง ชีวานนท์ ร่วมกันมีอำนาจลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้ สัญญาเช่าซื้อข้อ ๙ ไม่เป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่ต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาก่อน จำเลยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดที่ ๙ ตลอดมา โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายโดยสุจริต และฟ้องไม่เคลือบคลุม ค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ คือ ค่าใช้จ่ายในการนำรถกลับคืน ๓๐,๖๓๓ บาท ๕๐ สตางค์ ค่าซ่อมรถ ๑๐๒,๑๗๕ บาท ๕๐ สตางค์ ค่าขาดประโยชน์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๒๓๒,๘๐๙ บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เช่าซื้อรถแทร็กเตอร์หนึ่งคันจากโจทก์เช่าซื้อ ๕๔๙,๐๐๐ บาท ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกันไว้โดยนางอุษา พรประภา และนายเชวง ชีวานนท์ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นผู้ลงนามในสัญญาเช่าซื้อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๙ ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใด โดยมิต้องบอกกล่าวก่อน ยอมให้บรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งหมดเป็นของเจ้าของ ผู้เช่าซื้อจะต้องส่งทรัพย์สินที่เช่าซื้อโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีเรียบร้อยด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อ ถ้าไม่ส่งมอบคืนก็ให้ถือว่าครอบครองไว้โดยมิชอบ หากเจ้าของติดตามยึดคืนผู้เช่าซื้อยอมใช้ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ ค่าขนส่งและอื่นๆ ที่เจ้าของต้องเสียไปจนครบ จำเลยได้ชำระเงินไว้แล้ว ๑๐๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือแบ่งชำระเป็น ๑๕ งวด จำเลยได้ชำระค่าเช่าซื้อไปบ้างแล้ว ต่อจากนั้นจำเลยมิได้ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย ต่อมาโจทก์ทราบว่ารถแทร็กเตอร์คันที่จำเลยเช่าซื้ออยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โจทก์จึงให้พนักงานของโจทก์ยึดรถกลับคืน รถติดหล่มอยู่ในนาเกลือ ต้องซ่อมแซมให้เดินเครื่องแล่นขึ้นจากหล่มได้และนำขึ้นรถยนต์บรรทุกมากรุงเทพฯ ที่จำเลยฎีกาว่ารถติดหล่มอยู่เล็กน้อย การที่เจ้าพนักงานของโจทก์เดินเครื่องเพื่อให้รถขึ้นจากหล่มกลับทำให้รถจมลึกลงไปจึงสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและรถได้รับความเสียหายมาก พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่ารถแทร็กเตอร์ไปติดหล่มจมโคลนและได้รับความเสียหายเพราะการกระทำของฝ่ายจำเลยหาใช่เกิดจากการกระทำของพนักงานโจทก์ไม่ เรื่องค่าเสียหายโจทก์บรรยายฟ้องเพียงพอแล้ว ไม่จำต้องมีรายละเอียดซึ่งเป็นเรื่องนำสืบเอาได้ ส่วนการซ่อมรถโจทก์แนบรายการซ่อมมาท้ายฟ้องแล้ว ฟ้องไม่เคลืบคลุม ที่จำเลยฎีกาว่ากรรมการบริษัทโจทก์ต้องกระทำการต่างๆ ด้วยตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๑๖๗ ซึ่งให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทน โจทก์หามีอำนาจมอบให้นางอุษา พรประภาและนายเชวง ชีวานนท์ เป็นตัวแทนช่วงลงนามในสัญญาเช่าซื้อไม่ สัญญานี้จึงเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๕ และมาตรา ๑๑๔๔ กรรมการบริษัทจำกัดเป็นผู้แทนของบริษัท มีอำนาจดำเนินกิจการทุกอย่างภายในขอบข่ายแห่งวัตถุประสงค์และข้อบังคับของบริษัทได้ หาได้มีอำนาจจำกัดเพียงเท่าที่ตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจทั่วไปมีอยู่ไม่ มาตรา ๑๑๖๗ ที่จำเลยอ้างเป็นเรื่องความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอก เป็นต้นว่า กรรมการบริษัทจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวหรือไม่ ดังนี้ จึงจะบังคับตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทน หาได้หมายความว่ากรรมการบริษัทเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปของบริษัทไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๙ ที่ว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ผู้ให้เช่าซื้อริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วและยึดรถคืนได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวนั้น ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๐ และมาตรา ๕๗๔ อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและประชาชน จึงเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า มาตรา ๕๖๐ ที่บัญญัติให้ผู้ให้เช่าบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนบอกเลิกสัญญาก็ดี มาตรา ๕๗๔ ที่บัญญัติว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองคราวติดๆ กัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ก็ดี ไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๙ ไม่เป็นโมฆะ และที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาโดยไม่สุจริตนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จึงไม่มีประเด็นวินิจฉัย ที่โจทก์นำสืบว่ารถแทร็กเตอร์ออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเท่าใด เป็นการเทียบเคียงให้เห็นว่าโจทก์ต้องเสียหายไปเท่าใด หาจำต้องมีการให้เช่ารถกันจริงดังที่จำเลยฎีกาไม่ ศาลย่อมอาศัยอัตราค่าเช่าเป็นเกณฑ์คำนวณความเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไปในระหว่างรถอยู่ในความครอบครองของจำเลยได้ เรื่องดอกเบี้ยจำเลยฎีกานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๘ ว่า ถ้าผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินใดๆ แก่เจ้าของตามข้อสัญญาประการหนึ่งประการใด ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี สำหรับค่าติดตามเอาทรัพย์คืนก็ดี ค่าซ่อมแซมรถก็ดี เป็นเงินที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญาข้อ ๙ อยู่ในความหมายของคำว่า เงินใดๆ ตามสัญญา ข้อ ๘ จึงต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี แต่เงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ๑๐๐,๐๐๐ บาทนั้น เป็นค่าเสียหายที่ไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ไม่อยู่ในความหมายของคำว่า เงินใดตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๘ จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาฟุ่มเฟือย ทำให้เสียค่าฤชาธรรมเนียมโดยไม่จำเป็นนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานที่เป็นลูกจ้างของโจทก์นั้น เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความถูกต้องเท่าที่จำเป็นแล้ว หาเป็นการฟุ่มเฟือยไม่
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สำหรับเงินค่าขาดประโยชน์ ๑๐๐,๐๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share