คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อค้านว่าฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์ตั้งอยู่โดยไม่มีคำร้องขออนุญาตก่อนเป็นการผิดระเบียบนั้น ถ้าจำเลยไม่คัดค้านในศาลชั้นต้น แต่กลับดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จ เท่ากับให้สัตยาบันแล้ว จำเลยยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ แต่ศาลอาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกเงินค่าซื้อที่ดินจังหวัดนนทบุรีคืนเพราะจำเลยผิดสัญญา ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงิน ๓๓,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กฎหมายห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในข้อเท็จจริง ก็ไม่ถือว่าเป็นการสั่งโดยชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาข้อ ๒(๓) ของจำเลยที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดนนทบุรี โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฟ้องและได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อนชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นกรณีที่จำเลยได้โต้แย้งการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยตรง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ บัญญัติว่า ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่น หรือการส่งคำคู่ความ ฯลฯ เมื่อศาลเห็นสมควร หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้น ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน ฯลฯ ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวัน นับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ ฯลฯ
แต่ในคดีเรื่องนี้ เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล และศาลส่งคำฟ้องให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยได้ยื่นคำให้การทุกประเด็น ในชั้นชี้สองสถาน ศาลตั้งประเด็น ๒ ข้อคือ ๑. โจทก์ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีหรือไม่ ๒. จำเลยผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยก็ไม่ได้คัดค้านเรื่องโจทก์ฟ้องผิดศาลอย่างใด แต่กลับยินยอมให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์พยานจำเลย ตลอดจนยอมให้ศาลชั้นต้นเผชิญสืบที่พิพาทเพื่อตรวจดูว่าจำเลยได้ปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาหรือไม่ แล้วทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยาน ศาลชั้นต้นจึงได้พิพากษาคดี เท่ากับจำเลยทราบแล้วว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องในการยื่นคำฟ้อง แต่จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านกลับยอมปฏิบัติตามที่ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาจนเสร็จสิ้น เท่ากับจำเลยให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นแล้ว จำเลยจะยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่ เทียบตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๗๒/๒๕๑๑ ระหว่างหม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุทาธุช โดยนายสนิท สาครรัตน์ ผู้รับมอบอำนาจ โจทก์ นายเม่งเหลียง หรือสุนทร วัฒนเสรีธรรม จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๘/๒๕๐๓ ระหว่างนายคำผุ เมืองฮามพันธ์ โจทก์ นายสนั่น ศรีจันทร์ จำเลย
แม้การที่จำเลยเพิ่งจะหยิบยกปัญหาข้อนี้มาโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้โดยกล่าวว่า ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเนื่องจากคดีนี้ได้มีการสืบพยานโจทก์จำเลย และศาลชั้นต้นได้เผชิญสืบที่ดินพิพาทซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลชั้นต้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ไม่เห็นสมควรที่จะหยิบยกปัญหาเรื่องเขตอำนาจขึ้นวินิจฉัย ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒(๕) และคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๔/๒๕๑๑ ระหว่างนางมา หมายนามกลาง กับพวก โจทก์ นางแก้ว มาบอก กับพวก จำเลย ซึ่งศาลอุทธรณ์ย่อมทำได้และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share