แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การจำนองเป็นสัญญาเอาทรัพย์สินตราไว้เป็นการประกันหนี้ โดยมีหนี้ที่จะพึงต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธาน และจำนองอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น ซึ่งอาจแยกหนี้ที่จะต้องชำระแก่กัน และการจำนองออกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ เจ้าหนี้จึงชอบที่จะใช้สิทธิ์เรียกร้องอย่างหนี้สามัญ หรือจะบังคับจำนองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ย่อมทำได้ ไม่เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเรื่องจำนองหรือเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปเป็นเงิน ๒,๔๒๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินด้วย จำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นการผิดสัญญา โจทก์ทวงถามจำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้และรับเงินกับทำหลักฐานเป็นหนังสือสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ตามฟ้อง เดิมจำเลยซื้อที่ดินจากมารดาโจทก์ โดยชำระราคาที่ดินบางส่วน ส่วนที่เหลือประมาณสองล้านบาท จำเลยเอาที่ดินมาจำนองเป็นประกันหนี้ ต่อมามารดาโจทก์ถึงแก่กรรม ผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ได้ตกลงหนี้สินกับจำเลย โดยบอกว่าหนี้ที่จำเลยเป็นลูกหนี้มารดาโจทก์นั้นตกลงยกให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่พอใจที่ดินที่จำนองไว้เดิม จำเลยจึงนำที่ดินโฉนดที่ ๒๓๗๘ เฉพาะส่วนของจำเลยมาจำนองไว้กับโจทก์แทนที่ดินแปลงเดิม โจทก์กับจำเลยไม่เคยตกลงกู้เงินกัน และไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญากู้เงิน เพราะมูลหนี้ไม่ใช่เกิดจากการกู้เงิน เจตนาที่แท้จริงเป็นเพียงจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นหลักประกันการชำระหนี้เท่านั้น ข้อความเฉพาะส่วนที่ว่า “ผู้จำนองได้กู้เงินจากผู้รับจำนอง และให้ถือสัญญาจำนองฉบับนี้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินด้วย” และข้อความที่ว่า “และผู้จำนองได้รับเงินจากผู้รับจำนองเป็นการเสร็จสิ้นแล้ว” นั้น เจ้าพนักงานที่ดินทำขึ้นเองโดยพละการ จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันด้วย โจทก์ใช้สิทธิ์ฟ้องโดยไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงิน ๒,๔๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การจำนองนั้นเป็นสัญญาเอาทรัพย์สินตราไว้เป็นการประกันหนี้ โดยมีหนี้ที่จะพึงต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธาน และจำนองอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาจแยกหนี้ซึ่งจะต้องชำระแก่กัน และการจำนองออกเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ เมื่อเป็นดังนี้เจ้าหนี้จึงชอบที่จะใช้สิทธิ์เรียกร้องอย่างหนี้สามัญ คือบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๑๓ หรือจะบังคับจำนอง คือ ใช้บุริมสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองตามมาตรา ๗๒๘ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ย่อมทำได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับว่า ในกรณีซึ่งเป็นหนี้จำนองนั้น ผู้เป็นเจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับลูกหนี้อย่างหนี้สามัญตามมาตรา ๒๑๔ ไม่ได้ เป็นแต่เพียงกฎหมายบังคับว่า ในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิ์บังคับจำนอง สิทธิ์ของโจทก์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๗๓๓ ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงหาเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเรื่องจำนองหรือเป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตแต่ประการใดไม่ ฯลฯ
พิพากษายืน