แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง อำนาจที่จะกำหนดเส้นทางและจำนวนผู้ประกอบการขนส่งที่จะพึงอนุญาตสำหรับการขนส่งประจำทางเป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งโดยเฉพาะ กรมการขนส่งทางบกจำเลยหามีอำนาจไม่ การที่กรมการขนส่งทางบกจำเลยมีหนังสือแจ้งมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหารถเมล์เล็กในซอยไปให้โจทก์และทนายโจทก์ทราบว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหารถเมล์เล็กมีมติไม่อนุมัติตามคำร้องขอของโจทก์ที่จะนำรถยนต์เข้าร่วมแล่นรับส่งคนโดยสารในเส้นทางเดินรถ กับบริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรี จำกัด เช่นนี้ กรมการขนส่งทางบกจำเลยยังมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ประกอบอาชีพเดินรถเมล์เล็กรับส่งคนโดยสารในซอยศักดิ์เจริญ ถนนจรัลสนิทวงศ์ ประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔ โจทก์ซื้อรถยนต์มอริส เลขทะเบียน ก.ท.บ.๗๑๓๖ ซึ่งเป็นรถเมล์เล็กในซอยดังกล่าวเพื่อใช้รับส่งคนโดยสาร แต่ปรากฏว่ารถชำรุดมาก จึงได้ซื้อรถยนต์โตโยเอส เลขทะเบียน น.บ.๐๓๑๓๔ ใช้แทนมาตั้งแต่วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๔ ต่อมากรมการขนส่งทางบกจำเลยได้ทำการควบคุมรถเมล์เล็กในกรุงเทพฯ โดยให้บรรดารถเมล์เล็กที่แล่นรับส่งคนโดยสารอยู่ก่อนวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ไปติดต่อขอซื้อหุ้นกับบริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรี จำกัด แต่ทางบริษัทฯ อ้างว่ารถโตโยเอสของโจทก์ไม่มีชื่อในบัญชีรถร่วมในซอยศักดิ์เจริญ โจทก์จึงร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลย เจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบหลักฐานแล้ว ให้รถโจทก์รับส่งคนโดยสารในซอยต่อไปได้ ทางบริษัทฯ จึงขายหุ้นรับเงินสัมปทานและประทับตราข้างรถให้โจทก์ครั้งประมาณกลางปี ๒๕๑๔ ทางบริษัทฯ แจ้งให้โจทก์หยุดเดินรถโดยอ้างคำสั่งจำเลยโจทก์ต้องหยุดเดินรถและร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังจำเลย จำเลยตอบปฏิเสธอ้างว่าโจทก์เพิ่งซื้อรถยนต์ของโจทก์มาเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ ซึ่งคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งโดยมีคำสั่งอนุมัติให้วิ่งรับส่งคนโดยสารในซอยดังกล่าวได้
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องและฟ้องผิดตัวเพราะตามพระราชบัญญัติการขนส่ง ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง มิใช่จากอธิบดีกรมการขนส่งจำเลย บริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรีจำกัด แจ้งให้โจทก์หยุดเดินรถ มิใช่จำเลยเป็นผู้สั่ง จำเลยจึงมิได้ละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้ข้อหนึ่งว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และในวันนัดพยานโจทก์ โจทก์แถลงรับว่าคำสั่งของจำเลยที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโดยตรงนั้นไม่มี คงมีแต่หนังสือของจำเลยถึงผู้อำนวยการทหารผ่านศึกกับหนังสือของหัวหน้ากองวิชาการและวางแผนของจำเลยที่แจ้งให้โจทก์กับนายชาญทราบ ซึ่งจำเลยแถลงรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือของเจ้าหน้าที่จำเลยที่แจ้งไปโดยอาศัยมติของที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหารถเมล์เล็กในซอย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว สั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตัดฟ้องของจำเลยที่ว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องฟังขึ้น จำเลยไม่มีอำนาจที่จะพึงสั่งการเกี่ยวกับการขนส่งประจำทาง เพราะเป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งและนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. ๒๔๙๗ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมิใช่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัย ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๒(๕) จึงไม่เป็นประเด็นที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ และเห็นว่าจำเลยเป็นแต่แจ้งมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหารถเมล์เล็กในซอย การกระทำของจำเลยมิได้เป็นคำสั่งห้ามโจทก์ไม่ให้เดินรถ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมาวิธีพิจาณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ พิพากษายืนในผล
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เส้นทางเดินรถจากปากซอยศักดิ์เจริญด้านถนนจรัลสนิทวงศ์เข้าไปตามซอยถึงวัดคูหาสวรรค์ เป็นเส้นทางขนส่งประจำทางสายที่ ๑๔๑๘ ที่นายทะเบียนโดยอนุมัติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งออกในอนุญาตให้บริษัทสหรถเมล์เล็กธนบุรีจำกัด เป็นผู้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสาร ส่วนรถยนต์ที่มีสิทธิเข้าร่วมในบริษัท คณะกรรมการควบคุมการขนส่งมีมติกำหนดว่าจะต้องเป็นรถเมล์เล้กที่แล่นรับส่งคนโดยสารใรซอยก่อนวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ โจทก์ขอนำรถยนต์ของโจทก์เข้าร่วมกับบริษัท บริษัทไม่ยอมรับ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมไปยังจำเลย คณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหารถเมล์เล็กมีมติไม่อนุมัติตามคำร้องขอของโจทก์ จำเลยได้แจ้งผู้อำนวยการองค์การทหารผ่านศึกซึ่งขอทราบและแจ้งให้โจทก์และทนายโจทก์ทราบ ซึ่งหนังสือแจ้งมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาปัญหารถเมล์เล็กในซอยมิใช่คำสั่งของจำเลย ทั้งตามพระราชบัญญัติการขนส่ง อำนาจที่จะกำหนดเส้นทางและจำนวนผู้ประกอบการขนส่ง ที่จะถึงอนุญาตสำหรับการขนส่งประจำทางเป็นอำนาจของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งโดยเฉพาะ จำเลยหามีอำนาจไม่ จำเลยจึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือมีอำนาจอนุมัติให้โจทก์เข้าเดินรถในเส้นทางรถประจำทางดังกล่าวได้
พิพากษายืน