แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามนั่งรถยนต์แล่นช้า ๆ ผ่านหน้าบ้านที่ผู้เสียหายกำลังทำความสะอาดอยู่ 2 เที่ยว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคนขับ จอดรถโดยไม่ดับเครื่อง ห่างผู้เสียหาย 2 เมตร จำเลยที่ 1 ลงจากรถไปข้างหลังผู้เสียหาย ใช้แขนรัดคอกระชากสร้อยคอแล้ววิ่งมาขึ้นรถ โดยจำเลยที่ 2 เฝ้าดูการกระทำอยู่ตลอดเวลา เสร็จแล้วหนีไปด้วยกัน และถูกจับได้พร้อมกันในเวลาต่อมาไม่นาน จำเลยที่ 2 รับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำบันทึกจับกุม เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ลงมือกระชากสร้อยเอง ก็ต้องมีความผิดฐานร่วมเป็นตัวการกระทำการปล้นทรัพย์ด้วย จำเลยที่ 1 มีมีดเป็นอาวุธ แม้มิได้ใช้หรือแสดงอาวุธนั้นในการกระทำผิด และจำเลยที่ 2 ก็ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธ ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานมีอาวุธทำการปล้นทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 2 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14
คำรับสารภาพชั้นถูกจับกุมของจำเลยนั้น ศาลย่อมนำมาฟังประกอบพยานหลักฐานในสำนวนได้
การที่ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนแล้วเชื่อตามพยานโจทก์ว่าจำเลยกระทำผิด และลงโทษจำเลยนั้น ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ แม้ไม่กล่าวในคำพิพากษาว่ารับฟังพยานหลักฐานจำเลยไม่ได้อย่างไร ก็ไม่ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีมีดปลายแหลมเป็นอาวุธ ปล้นเอาสายสร้อยทองคำ ๑ เส้น พร้อมด้วยพระเลี่ยมทอง ๑ องค์ของเด็กหญิงศุภมิตร แซ่ตั้ง ผู้เสียหาย โดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายรัดคอผู้เสียหายแล้วกระชากเอาไปโดยทุจริต เพื่อให้เป็นความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ และในการปล้นทรัพย์นี้จำเลยร่วมกันใชัรถยนต์เป็นพาหนะพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสามได้ในวันเกิดเหตุพร้อมด้วยทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้คืนให้ผู้เสียหายไปแล้ว และได้มีด ๑ เล่มที่ใช้ในการกระทำผิด กับรถยนต์กระบะบรรทุก ๑ คัน ของผู้อื่นเป็นของกลาง จำเลยที่ ๑ เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน มากระทำความผิดคดีนี้อีกภายใน ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, มาตรา ๘๓, ๙๒ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ ริบมีดของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๑ ให้การรับว่าได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ และรับว่าเคยต้องโทษ ละพ้นโทษจริงตามฟ้อง จำเลยที่ ๒, ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้อ ๑๔, ๑๕ วางโทษจำคุกคนละ ๒๔ ปี เฉพาะจำเลยที่ ๑ เพิ่มโทษตามมาตรา ๙๒ อีก ๑ ใน ๓ เป็นจำคุก ๓๒ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพฐานชิงทรัพย์ ลดโทษให้ตามมาตรา ๗๘ ลง ๑ ใน ๓ คงจำคุก ๒๑ ปี ๔ เดือน มีดของกลางริบ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ ๒ จะมีความผิดฐานเป็นตัวการกระทำการปล้นทรัพย์หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเกิดเหตุจำเลยทั้งสามนั่งรถยนต์ไปด้วยกัน โดยแล่นไปช้า ๆ ผ่านหน้าบ้านที่ผู้เสียหายกำลังทำความสะอาด ๒ เที่ยว แล้วจึงจอดห่างผู้เสียหายประมาณ ๒ เมตร จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ขับจอดรถโดยไม่ดับเครื่อง จำเลยที่ ๑ ลงจากรถเดินเข้าไปข้างหลังผู้เสียหาย ใช้แขนขวารัดคอ แล้วกระชากสร้อยคอทองคำซึ่งมีพระเลี่ยมทอง ๑ องค์จากคอผู้เสียหาย แล้ววิ่งไปขึ้นรถ จำเลยที่ ๓ ขับหนีไป แต่ในที่สุดจำเลยทั้งสามก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับได้พร้อมด้วยสร้อยคอ และได้มีดพกปลายแหลม ๑ เล่มจากจำเลยที่ ๑ เป็นของกลาง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยทังสามนั่งรถผ่านหน้าบ้านที่ผู้เสียหายกำลังทำความสะอาดอยู่ ๒ เที่ยว เชื่อว่าจำเลยทั้งสามพากันมาดูลาดเลาก่อนเพื่อหาโอกาสชิงทรัพย์ และจำเลยที่ ๒ นั่งรออยู่ในรถห่างผู้เสียหาย ๒ เมตร ในขณะจำเลยที่ ๑ ลงจากรถไปกระชากสร้อยของผู้เสียหายโดยจำเลยที่ ๒ เฝ้าดูการกระทำของจำเลยที่ ๑ ตลอดเวลา เมื่อได้ทรัพย์ก็พากันนั่งรถที่ติดเครื่องรออยู่หนีไป และถูกจับได้พร้อมกันในเวลาต่อมาไม่นาน คืนนั้นเองจำเลยที่ ๒ ก็รับสารภาพต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำบันทึกจับกุมว่าจำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย พฤติการณ์ดังนี้จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันกระทำผิด แม้จำเลยที่ ๒ จะมิได้ลงมือกระชากสร้อย ก็ต้องมีความผิดฐานร่วมเป็นตัวการกระทำการปล้นทรัพย์เช่นเดียวกัน
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกคำรับสารภาพชั้นถูกจับกุมของจำเลยที่ ๒ มาวินิจฉัยว่า กระทำผิดเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ได้รับฟังเฉพาะคำรับสารภาพนั้นเพียงอย่างเดียว แล้วเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ กระทำผิด แต่ได้รับฟังประกอบกับพยานหลักฐานในสำนวน ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะกระทำได้ และที่ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์หยิบยกคำให้การของจำเลยที่ ๑ ที่ให้การซัดทอดจำเลยที่ ๒ มาพิจารณาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ ๒ เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้ไม่รับฟังคำให้การของจำเลยที่ ๑ พยานเหตุผลแวดล้อมกรณีก็พอฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ร่วมกระทำผิดด้วยแล้ว และที่ศาลล่างทั้งสองพิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนแล้วเชื่อตามพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ ๒ กระทำผิดและลงโทษจำเลยนั้น ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ แม้คำพิพากษาจะมิได้กล่าวไว้ว่า รับฟังพยานหลักฐานจำเลยไม่ได้อย่างไร ก็ไม่ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความ ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ใช้อาวุธหรือแสดงอาวุธในทางกระทำผิด จำเลยที่ ๒ ไม่ทราบว่าจำเลยที่ ๑ มีอาวุธ จะลงโทษจำเลยที่ ๒ ว่าร่วมกระทำผิดโดยมีอาวุธทำการปล้นทรัพย์ไม่ได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ไม่ได้บัญญัติว่าผู้กระทำการปล้นทรัพย์ต้องแสดงหรือใช้อาวุธ หรือรู้ว่าผู้ร่วมกระทำการปล้นทรัพย์มีอาวุธติดตัวไปด้วย จึงจะลงโทษตามบทมาตรานี้ได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ ชอบแล้ว แต่เห็นว่าคำรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ ๒ ให้ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ได้ ควรลดโทษให้จำเลย จึงพิพากษาแก้ เป็นว่า เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ ๒ ลง ๑ ใน ๓ แล้ว คงให้จำคุก ๑๖ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์