คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นภรรยาของจำเลย ต่อมาได้ตกลงแยกกันอยู่ โดยจำเลยตกลงทำสัญญาแบ่งรายได้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองที่จำเลยมอบภาระให้โจทก์ในอัตราเศษหนึ่งส่วนสามของรายได้ประจำเดือนที่จำเลยได้รับจนกว่าบุตรทั้งสองคนจะบรรลุนิติภาวะ หรือจนกว่าโจทก์จะยอมหย่าขาดจากจำเลย เมื่อบุตรทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้วจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ โดยถือเอาจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามข้อกำหนดในท้ายสัญญาท้ายฟ้องตลอดมาต่อมาจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์เพียงเดือนละ 1,200 บาทเท่านั้น ซึ่งจำเลยมีหน้าที่แบ่งรายได้ให้โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นเงิน 1,860 บาท ไม่ครบตามข้อตกลงขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์โดยแบ่งเงินรายได้ประจำเดือนให้โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นเงิน 1,860บาททุกเดือนดังนี้ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องโจทก์ถือเอาอัตราและจำนวนเงินที่จำเลยเคยจ่ายให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยอ้างข้อตกลงตามสัญญาแบ่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นหลักในการคำนวณจำนวนเงินที่จำเลยเคยจ่ายให้โจทก์เท่านั้น ไม่ใช่โจทก์นำสัญญาแบ่งรายได้เลี้ยงดูบุตรที่สิ้นผลบังคับแล้ว (เพราะบุตรบรรลุนิติภาวะ) มาฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดไม่
กรณีภรรยาฟ้องให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ครบตามจำนวนที่เคยจ่ายให้ภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1594 ที่โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ไร้ทรัพย์สินและมิสามารถหาเลี้ยงตนเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาของจำเลย ต่อมาได้ตกลงแยกกันอยู่โดยจำเลยตกลงทำสัญญาแบ่งรายได้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรทั้งสองที่จำเลยมอบภาระให้โจทก์ ในอัตราเศษหนึ่งส่วนสามของรายได้ประจำเดือนที่จำเลยได้รับหลังจากหักค่าภาษีเงินได้และภาษีช่วยชาติออกแล้วจนกว่าบุตรทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ หรือจนกว่าโจทก์จะยอมหย่าขาดจากจำเลย และให้ถืออัตราส่วนแบ่งนี้ตลอดไปไม่ว่ารายได้ของจำเลยจะเปลี่ยนแปลงไปโดยประการใด เมื่อบุตรทั้งสองคนบรรลุนิติภาวะแล้วจำเลยก็ได้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์โดยถือเอาจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามข้อกำหนดในสัญญาท้ายฟ้องตลอดมา ต่อมาจำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เพียงเดือนละ ๑,๒๐๐ บาทเท่านั้น ซึ่งจำเลยมีหน้าที่แบ่งรายได้ให้โจทก์หนึ่งในสามของรายได้เป็นเงิน ๑,๘๖๐ บาทไม่ครบตามข้อตกลง ขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๑,๘๖๐ บาททุกเดือน จนกว่าโจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากความเป็นสามีภรรยากัน
จำเลยให้การว่า ข้อตกลงยินยอมในการแบ่งรายได้เลี้ยงดูบุตรท้ายฟ้องสิ้นผลบังคับเมื่อบุตรคนที่สองบรรลุนิติภาวะแล้ว แม้จำเลยยังไม่ยอมหย่าขาดจากโจทก์ เงื่อนไขบังคับหลังสำเร็จแล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดตามข้อตกลงท้ายฟ้องอีกต่อไป ข้อตกลงนี้เป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตลอดเวลาที่จำเลยยังรับราชการตลอดไป บัดนี้จำเลยถูกปลดเกษียณแล้ว เป็นผลให้สัญญาสิ้นสุดลง โจทก์จะนำหนี้ในมูลสัญญาที่สิ้นผลบังคับแล้ว มาบังคับจำเลยไม่ได้ คำฟ้องของโจทก์นำเอาสัญญาท้ายคำฟ้องมาเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจำเลยไม่เคยตกลงใด ๆ กับโจทก์ แต่จำเลยยังยินดีส่งเสียตามข้อตกลงเรื่อยมาแม้สัญญาจะสิ้นผลบังคับแล้ว ต่อมาจำเลยปลดเกษียณและไม่ได้ทำงานที่อื่นอีก ฐานะของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป และจำเลยมีภาระหนี้สินที่จะต้องผ่อนชำระเป็นรายเดือน มีบุตรที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาอีก ๒ คน จึงไม่สามารถส่งเสียโจทก์ในจำนวนเดิมได้
วันชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในมูลสัญญาที่สิ้นผลบังคับแล้ว โจทก์จะนำสัญญานี้มาฟ้องจำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยาน แล้วพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงความเป็นมาระหว่างโจทก์จำเลยและบุตร ตลอดจนจำเลยได้ทำสัญญาและแบ่งรายได้ให้โจทก์เป็นรายเดือนในอัตราหนึ่งในสามส่วนของรายได้สุทธิที่จำเลยได้รับเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรสองคนของจำเลยที่อยู่กับโจทก์ จำเลยได้ปฏิบัติตามสัญญาตลอดมา ภายหลังที่บุตรทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้วจำเลยได้จ่ายเงินตามจำนวนเดิมให้โจทก์ตลอดมาจนจำเลยถูกปลดเกษียณซึ่งโจทก์ได้ถือเอาอัตราและจำนวนเงินที่จำเลยเคยจ่ายให้โจทก์เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามกฎหมาย ภายหลังที่จำเลยถูกปลดเกษียณแล้ว จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ลดจำนวนลง โจทก์ได้อ้างข้อตกลงตามสัญญาแบ่งเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นหลักในการคำนวณจำนวนเงินตามที่จำเลยเคยจ่ายให้โจทก์เท่านั้น มิใช่โจทก์นำเอาสัญญาแบ่งรายได้เลี้ยงดูบุตรที่สิ้นผลบังคับแล้วมาฟ้องให้จำเลยต้องรับผิด กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๔ ที่โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้ไร้ทรัพย์สิน และมิสามารถหาเลี้ยงตนเองได้ดังฎีกาของจำเลย คดียังมีประเด็นโต้เถียงกันต่อไปว่า จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์จริงหรือไม่ และฐานะของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจริงหรือไม่อันเป็นเรื่องที่จะต้องฟังพยานโจทก์จำเลยต่อไปที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share