คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2786/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 264 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นบทบัญญัติถึงวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา เมื่อคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด และที่จำเลยร้องขอให้ถอนการยึดหรือให้งดการขายทอดตลาดไว้เพื่อรอฟังผลของคดีอื่น ก็มิใช่เป็นวิธีการเพื่อบังคับตามคำพิพากษาคำร้องขอของจำเลย จึงไม่เข้ามาตรา 264แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 วรรคสองศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ต่อเมื่อได้พิจารณาเหตุผล2 ประการประกอบกันคือพิจารณาว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตาม คำพิพากษามีเหตุฟังได้ประการหนึ่ง และพิจารณาว่าถ้างดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกประการหนึ่ง ดังนั้น แม้จะฟังว่าการงดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลก็จะสั่งให้งดบังคับคดียังไม่ได้ ศาลจะต้องพิจารณาว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้หรือไม่เสียก่อน หากไม่มีเหตุฟังได้ก็จะไม่สั่งให้งดการบังคับคดี

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดมอเตอร์ของจำเลยตามคำสั่งของศาลชั้นต้นเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร้องว่าจำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหายตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๖/๒๕๑๕ ซึ่งหากจำเลยชนะคดีก็จะหักกลบลบหนี้กันได้ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๔ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ถอนการยึด และสั่งให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อน
โจทก์ค้านว่าทรัพย์ที่โจทก์ยึดเป็นของบริษัทจำเลยที่ ๑ แต่คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๖/๒๕๑๕ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฟ้องในฐานะส่วนตัว และยังไม่แน่ว่าจำเลยจะได้รับค่าเสียหายหรือไม่ เท่าใด และคดีนี้ศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ไม่มีเหตุอย่างใดที่ต้องงดการบังคับคดีหรือต้องคุ้มครองผลประโยชน์ในระหว่างพิจารณา ขอให้ยกคำร้องของจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษายังไม่มีเหตุผลถึงขนาดให้ถอนการยึด และให้งดการขายทอดตลาด เพราะค่าเสียหายที่จำเลยฟ้องเรียกจากโจทก์ในมูลฐานละเมิดตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๖/๒๕๑๕ นั้น ยังไม่แน่นอนว่าจะได้ เพียงใดหรือไม่ และหากงดการขายทอดตลาดไว้น่าจะเสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๒๖๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นบทบัญญัติถึงวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา แต่คดีนี้เมื่อคู่ความได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมแล้วก็ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ว และไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด และการที่จำเลยร้องขอให้ถอนการยึดหรืองดการขายทอดตลาดไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลของคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๖/๒๕๑๕มิใช่เป็นวิธีการเพื่อบังคับตามคำพิพากษา คำร้องของจำเลยจึงไม่เข้ามาตรา ๒๖๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนที่จำเลยขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๙๓ วรรคแรก นั้น เห็นว่า มาตรา ๒๙๓ วรรค ๒ ศาลจะมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ต่อเมื่อได้พิจารณาเหตุผล ๒ ประการประกอบกัน คือพิจารณาว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้ประการหนึ่งและพิจารณาว่าถ้างดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกประการหนึ่ง ดังนั้น แม้จะฟังว่าการงดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพราะจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้นำหลักทรัพย์อันมีราคาท่วมหนี้ตามคำพิพากษามาวางศาลไว้แล้ว ศาลจะสั่งให้งดบังคับคดียังไม่ได้ ศาลจะต้องพิจารณาว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้หรือไม่เสียก่อนหาไม่มีเหตุฟังได้ ก็จะไม่สั่งให้งดการบังคับคดี และเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่มีเหตุจะพึงให้รับฟังได้
พิพากษายืน

Share