แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเริ่มตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2510และตอกเสร็จภายในไม่เกินเดือนสิงหาคม 2510 ระหว่างนั้นโจทก์เคยทักท้วงจำเลยให้หาวิธีตอกอย่างอื่นแล้ว ดังนี้ ความเสียหายแก่อาคารสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ซึ่งเกิดจากแรงสะเทือนในการตอกเสาเข็มหากจะมีขึ้น โจทก์ย่อมรู้ได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยตอกเสาเข็มเสร็จ โจทก์มายื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2512 คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายอันเกิดจากการตอกเสาเข็มของจำเลยสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้รับสภาพหนี้ จึงขาดอายุความ
โจทก์เคยมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 แจ้งรายการความเสียหายและให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2511จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 2 ตอนรับรองจะทำการซ่อมแซมทรัพย์สินของโจทก์บางรายการ และวันที่ 14 ตุลาคม 2511โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 3 ให้รีบจัดการแก้ไขทรัพย์สินของโจทก์ที่เสียหายให้เรียบร้อยด้วยเอกสารทั้งสามฉบับประกอบกัน ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยอมรับสภาพหนี้ความเสียหายของโจทก์เท่าที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ฉบับลงวันที่ 22 สิงหาคม 2511 ของจำเลยแล้วคดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่ขาดอายุความ
กรณีน้ำเน่าไหลซึมเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เกิดขึ้นหลังจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ส่งมอบสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้สอยอาคารที่ปลูกสร้างจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปลูกสร้างอาคารตามแบบแปลนซึ่งมีบ่อเกรอะสำหรับน้ำเสียไว้แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันปลูกสร้างอาคาร (แฟลต) ลงในที่ดินข้างเคียงที่ดินของโจทก์โดยจำเลยที่ ๓ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะกระทำแทนจำเลยที่ ๒ ได้รับจ้างจากจำเลยที่ ๑ ในการปลูกสร้างนี้จำเลยทั้งสามได้ตอกเสาเข็มขนาดใหญ่และยาวมาก จำนวนมากมายด้วยปั้นจั่นขนาดใหญ่เนื่องจากแรงอัดของที่ดินและแรงสะเทือน เป็นเหตุให้สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ของโจทก์ชำรุดเสียหายดังรายละเอียดในฟ้อง โจทก์ตรวจพบในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๑ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยไม่ทำระบบการระบายน้ำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการก่อสร้าง ทำให้น้ำเน่าจากการใช้ในตึกไหลซึมเข้าในที่ดินของโจทก์ทำให้ที่ดินเฉอะแฉะ และซึมซาบลงในสระว่ายน้ำ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความจำเลยที่ ๑ ได้จ้างเหมาจำเลยที่ ๒ และหรือจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ก่อสร้างจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิด น้ำไม่ได้ไหลซึมเข้าไปในที่ดินของโจทก์ เรื่องท่อระบายน้ำอยู่ในหน้าที่การงานรับเหมาของผู้รับเหมา ถ้าหากจะมีน้ำไหลไปกระทำความเสียหายแก่โจทก์จริง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ต้องรับผิด
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารตามแบบแปลน และคำสั่ง ภายใต้การควบคุมดูแลของจำเลยที่ ๑จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ ๓ กระทำไปในกิจการตามปกติและวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ความเสียหายของโจทก์ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยทั้งสอง ทรัพย์พิพาทไม่ได้เสียหายตามฟ้องค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม คดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการตอกเสาเข็มขาดอายุความ ส่วนความเสียหายอันเกิดจากน้ำเน่าไหลซึมเข้าไปในที่ดินของโจทก์นั้น เกิดขึ้นภายหลังที่สร้างอาคารเสร็จแล้ว และยังคงเกิดขึ้นตลอดมา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ไม่ต้องรับผิด พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจัดการไม่ให้น้ำเน่าไหลจากอาคารของจำเลยที่ ๑ ซึมเข้าไปในที่ดินของโจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหายอันเกิดจากตอกเสาเข็มสำหรับจำเลยที่ ๑ คดีโจทก์ขาดอายุความ ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.๔ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากตอกเสาเข็มเป็นเงิน๑๐๐,๐๐๐ บาท ให้จำเลยที่ ๑ ใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากน้ำไหลซึมอีกวันละ๑๕ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่า จำเลยจะจัดการแก้ไขไม่ให้น้ำไหลซึมเข้าไปในที่ดินโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเริ่มตอกเสาเข็มเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๑๐ โจทก์เคยทักท้วงให้หาวิธีตอกอย่างอื่น จำเลยคงทำตามเดิมและตอกเสร็จภายในไม่เกินเดือนสิงหาคม ๒๕๑๐ ความเสียหายแก่อาคารสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ซึ่งเกิดจากแรงสะเทือนในการตอกเสาเข็มหากมีขึ้น โจทก์ย่อมได้รู้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยตอกเสาเข็มเสร็จ แต่โจทก์มายื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๑๒ คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายอันเกิดจากการตอกเสาเข็มของจำเลยจึงขาดอายุความโจทก์ฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้
สำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ความว่า เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๑โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๑ แจ้งรายการความเสียหายและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ต่อมาวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๓ในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ ๒ ตอบรับรองจะทำการซ่อมแซมทรัพย์สินของโจทก์ที่เสียหายบางรายการ และวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๑ โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๓ ให้รีบจัดการแก้ไขทรัพย์สินของโจทก์ที่เสียหายให้เรียบร้อยเอกสารทั้งสามฉบับนี้ประกอบกันฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ได้ยอมรับสภาพหนี้ความเสียหายของโจทก์ เท่าที่ปรากฏอยู่ในหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ ๒ตอบรับรองจะทำการซ่อมแซมทรัพย์สินของโจทก์ที่เสียหายบางรายการและวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๑ โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๓ ให้รีบจัดการแก้ไขทรัพย์สินของโจทก์ที่เสียหายให้เรียบร้อย เอกสารทั้งสามฉบับนี้ประกอบกันฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ยอมรับสภาพหนี้ความเสียหายของโจทก์ เท่าที่ปรากฏอยู่ในหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๑๑ แล้วคดีโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงยังไม่ขาดอายุความ
กรณีน้ำเน่าไหลซึมเข้าไปในที่ดินของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากจำเลยที่ ๒และที่ ๓ ได้ส่งมอบสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว เป็นคนละเรื่องกันจึงไม่ขาดอายุความไปด้วย จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ใช้อาคารที่ปลูกสร้าง จำเลยที่ ๑ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ปลูกสร้างอาคารตามแบบแปลนซึ่งมีบ่อเกรอะสำหรับรับน้ำเสียไว้แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑
ค่าเสียหายอันเกิดจากการตอกเสาเข็มที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ชดใช้แก่โจทก์นั้นสูงเกินไป
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะที่ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการตอกเสาเข็มแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาทนั้น เป็นว่าให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์