แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โทษกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิต คือจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 12 ปีถึง 20 ปี แต่การลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิตนั้น มิใช่ว่าจะลงโทษจำคุกต่ำกว่า 12 ปีไม่ได้การที่ศาลลงโทษจำคุก 10 ปี ก็เป็นการลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิต
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2516 )
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืน กระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและใช้อาวุธดังกล่าวยิงพลตำรวจประโยชน์ขณะเข้าจับกุมจำเลยในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ของผู้อื่นแต่กระสุนไม่ระเบิดและทันใดนั้นเองจำเลยใช้อาวุธปืนนั้นตีพลตำรวจประโยชน์ เป็นการกระทำเพื่อต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ก่อนคดีนี้จำเลยต้องโทษจำคุก๓ เดือนปรับ ๑,๕๐๐ บาท โทษจำคุกรอไว้กำหนด ๒ ปี จำเลยได้กระทำผิดคดีนี้อีกภายในกำหนด ๒ ปี จับจำเลยได้พร้อมของกลาง
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘, ๒๙๕, ๒๘๙, ๘๐พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และเอาโทษรอมาบวกกับโทษคดีนี้ ริบของกลาง
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ริบปืนและกระสุน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๓๘, ๒๙๕, ๒๘๙, ๘๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แต่ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๘๑ ซึ่งเป็นบทหนัก และกระทงหนักที่สุดตามมาตรา ๙๐, ๙๑ และประกอบด้วยมาตรา ๕๒ ให้จำคุก ๑๐ ปี บวกโทษรอการลงโทษอีก ๓ เดือน รวมจำคุกจำเลย ๑๐ ปี ๓ เดือน
โจทก์ฎีกาว่า การกำหนดโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙, ๘๑ ประกอบมาตรา ๕๒ จะวางโทษจำคุกต่ำกว่า ๑๒ ปีไม่ได้
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามฟ้อง และวินิจฉัยว่าการจะคำนวณโทษกึ่งหนึ่งของโทษประหารชีวิตนั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒(๒) มาใช้เป็นหลักในการกำหนดโทษ โทษกึ่งหนึ่งที่จะลงแก่จำเลย ก็คือโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ ๑๒ ปีถึง ๒๐ ปี ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำคุกจำเลย ๑๐ ปี เป็นการลงโทษที่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ประกอบด้วยมาตรา ๘๑ หาใช่ว่าจะต้องกำหนดโทษจำคุกจำเลยอย่างต่ำ ๑๒ ปีไม่
พิพากษายืน