คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

1. การที่จะวินิจฉัยว่าทรัพย์ใดเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือไม่นั้นย่อมอยู่ที่ลักษณะสภาพของตัวทรัพย์นั้นเองว่าเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน.ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 100 หรือไม่ ส่วนทรัพย์นั้นจะเป็นส่วนควบของที่ดินหรือไม่เป็นคนละเรื่องกัน ดังเช่นปลูกตึกลงในที่ดินที่เช่าผู้อื่นเป็นการชั่วคราวตึกนั้นย่อมไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 109 แต่ลักษณะสภาพของตึกเป็นทรัพย์ติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรตึกนั้นจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ การซื้อขายตึกเช่นว่านี้จึงต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
2. แม้ข้อความในสัญญาจะมีเงื่อนไขว่า ผู้ขายมีสิทธิซื้อโรงเรือนคืนได้ภายในกำหนด 5 เดือนก็ดี แต่ในสัญญานั้นเองก็มีข้อความว่ายอมให้ผู้ซื้อยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของตั้งแต่วันทำสัญญาโดยที่ผู้ขายซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในโรงเรือนต้องเสียค่าตอบแทนซึ่งในสัญญาเรียกว่าดอกเบี้ยให้แก่ผู้ซื้อเป็นรายเดือน และผู้ขายก็ได้รับเงินค่าโรงเรือนไปครบถ้วนแล้ว ดังนี้ สัญญาพิพาทจึงมิใช่สัญญาจะซื้อจะขาย หากแต่เป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดในลักษณะของสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถ้ามิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะ
3. จำเลยที่ 3 ต้องการเงิน 30,000 บาทเพื่อนำไปชำระหนี้ผู้อื่นจึงขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นน้อง ทำสัญญาขายโรงเรือนให้โจทก์ในสัญญาพิพาทมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะซื้อคืนได้ภายใน 5 เดือนเท่าราคาขายพร้อมด้วยดอกเบี้ย และโจทก์ผู้ซื้อยอมให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ยังคงอาศัยอยู่ในโรงเรือนได้ นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์อีกฉบับหนึ่งว่า เมื่อครบกำหนด 5 เดือนถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ยอมออกจากโรงเรือน และไม่สามารถใช้เงิน30,000 บาทกับดอกเบี้ยคืนให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 ยอมใช้เงิน30,000 บาทกับดอกเบี้ยแทน ดังนี้ สัญญาพิพาทเข้าแบบเป็นนิติกรรมกู้ยืมเงินอีกอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 136โจทก์ย่อมฟ้องเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยได้ แม้ในคำบรรยายฟ้องโจทก์จะไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่า หากสัญญาพิพาทเป็นโมฆะแล้ว โจทก์จำเลยตั้งใจให้สมบูรณ์ในแบบสัญญากู้เงินก็ดี เมื่อตามฟ้องของโจทก์คำให้การจำเลยประกอบกับข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างใดแล้ว ก็เป็นเรื่องของศาลที่จะยกบทกฎหมายขึ้นปรับคดีเองได้ ทั้งโจทก์มีคำขอให้จำเลยใช้เงินคืนให้โจทก์ด้วยจึงไม่ใช่นอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
(ข้อ 3 วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 38/2515)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ตกลงขายโรงเรือนให้แก่โจทก์เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะขอซื้อคืนได้ในราคาเดิมภายใน ๕ เดือน พร้อมด้วยดอกเบี้ย ๑.๒๕ บาทต่อเดือน หากไม่สามารถซื้อคืนได้ภายในกำหนดดังกล่าว ยินยอมให้โจทก์เข้าครอบครองและจำเลยจะออกจากโรงเรือนทันที จำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันโดยตกลงว่าหากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ซื้อโรงเรือนภายในกำหนด หรือไม่ยอมออกจากโรงเรือนเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยที่ ๓ จะชำระเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ครั้นครบกำหนด ๕ เดือน จำเลยที่ ๑ ที่ ๒มิได้ขอซื้อโรงเรือนคืนทั้งไม่ยอมออก จึงขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒โอนโรงเรือนให้โจทก์ ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป หากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ไม่ยอมโอนและไม่ยอมออก ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาโรงเรือน๓๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่าได้ทำสัญญาซื้อขายโรงเรือนและสัญญาค้ำประกันจริง แต่ไม่มีเจตนาผูกพัน สัญญาซื้อขายเป็นนิติกรรมอำพรางโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งสัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ สัญญาซื้อขายโรงเรือนไม่ใช่เป็นนิติกรรมอำพราง โรงเรือนที่ซื้อขายกันเป็นอสังหาริมทรัพย์สัญญาซื้อขายมิใช่สัญญาซื้อขายเด็ดขาด แต่มีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายไม่ต้องจดทะเบียนก็ฟ้องร้องบังคับได้พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒โอนโรงเรือนพิพาทให้โจทก์ และให้จำเลยกับบริวารออกไปจากโรงเรือนพิพาทห้ามเกี่ยวข้องหากจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ไม่ยอมโอนและไม่ยอมออกไป ก็ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าสัญญาพิพาทเป็นสัญญาซื้อขายโรงเรือนซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อไม่จดทะเบียนจึงตกเป็นโมฆะ แต่คู่กรณีมุ่งจะให้มีผลเป็นสัญญากู้อีกแบบหนึ่งใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไปคำขออื่นให้ยกเสีย
โจทก์จำเลยฎีกา
ในประเด็นที่โจทก์ฎีกาว่า โรงเรือนพิพาทปลูกอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯเป็นการชั่วคราวไม่เป็นส่วนควบของที่ดิน จึงเป็นสังหาริมทรัพย์ และสัญญาพิพาทเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย จึงไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จะวินิจฉัยว่าทรัพย์ใดเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือไม่นั้น ย่อมอยู่ที่ลักษณะสภาพของตัวทรัพย์นั้นเองว่าเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐ หรือไม่ ทรัพย์นั้นจะเป็นส่วนควบของที่ดินหรือไม่ เป็นคนละเรื่องกัน เช่น ปลูกตึกอยู่ในที่ดินที่เช่าผู้อื่นเป็นการชั่วคราวตึกนั้นย่อมไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๐๙ แต่ลักษณะสภาพของตึกเป็นทรัพย์ติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวรตึกนั้นจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ โรงเรือนพิพาทนี้ก็เช่นเดียวกัน มีลักษณะปลูกติดอยู่กับที่ดินเป็นการถาวร เคลื่อนย้ายไม่ได้โดยง่าย จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำให้ถูกแบบ คือ ทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่โจทก์ฎีกาว่าสัญญาพิพาทเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขายไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนก็ฟ้องร้องบังคับได้ นั้นศาลฎีกาพิเคราะห์สัญญาพิพาทโดยละเอียดแล้วเห็นว่า แม้สัญญาจะมีเงื่อนไขว่า ผู้ขายมีสิทธิซื้อคืนได้ภายในกำหนด ๕ เดือนก็ดี แต่ในสัญญามีข้อความว่า ยอมให้ผู้ซื้อยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของตั้งแต่วันทำสัญญา โดยผู้ขายซึ่งยังคงอยู่อาศัยในโรงเรือนต้องเสียค่าตอบแทน (ซึ่งในสัญญาเรียกว่าดอกเบี้ย) ให้แก่ผู้ซื้อเป็นรายเดือนและผู้ขายก็ได้รับเงินค่าโรงเรือนไปครบถ้วนแล้ว สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาซื้อขายเด็ดขาดในลักษณะของสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๕๖ จึงจะมีผลสมบูรณ์ เมื่อมิได้จดทะเบียนย่อมตกเป็นโมฆะโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โอนโรงเรือนพิพาทให้โจทก์ไม่ได้
ส่วนคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสามใช้เงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนั้นศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า มูลกรณีเกิดจากจำเลยที่ ๓ ต้องการเงิน๓๐,๐๐๐ บาท เพื่อนำไปชำระหนี้ผู้อื่น จึงได้ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทำสัญญาขายโรงเรือนพิพาทให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จะซื้อคืนได้ภายใน๕ เดือน เท่าราคาขายพร้อมดอกเบี้ยในระหว่าง ๕ เดือนนี้โจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๑ที่ ๒ ยังคงอยู่อาศัยในโรงเรือนพิพาทได้ และจำเลยที่ ๓ ได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ว่า ถ้าครบกำหนด ๕ เดือน จำเลยที่ ๑ ผู้ขายไม่ยอมออกจากโรงเรือนพิพาทและไม่สามารถจัดเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยคืนให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๓ยอมรับใช้เงิน ๓๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยแทน ดังนี้ สัญญาพิพาทจึงเข้าแบบเป็นนิติกรรมกู้ยืมอย่างหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๖ โจทก์ย่อมฟ้องเรียกเงินคืนได้พร้อมดอกเบี้ย และแม้ในคำบรรยายฟ้องโจทก์จะไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งว่าหากสัญญาพิพาทเป็นโมฆะแล้ว โจทก์จำเลยก็ตั้งใจให้สมบูรณ์ในแบบสัญญากู้เงินดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖ ก็ดีที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาก็เห็นว่า เมื่อตามฟ้องของโจทก์ คำให้การจำเลยประกอบกับข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างใดแล้วก็เป็นเรื่องของศาลที่จะยกบทกฎหมายขึ้นปรับคดีเองได้ ทั้งโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยใช้เงินคืนให้โจทก์ด้วย มิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share