คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2250/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีทนาย แต่จำเลยที่ 1ไม่มีทนาย ฎีกาทำเป็นฉบับเดียว ลงชื่อทนายของจำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ฎีกา จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มีทนายไม่ได้ลงชื่อเป็นผู้ฎีกาด้วย ฉะนั้น แม้ฎีกาฉบับนี้จะได้ระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ไว้ในฎีกาหน้าแรกว่าเป็นผู้หนึ่งที่ขอยื่นฎีกาด้วยก็ตาม ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นฎีกาของจำเลยที่1 ด้วย ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งห้า ซึ่งหมายรวมถึงจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น จึงคลาดเคลื่อน ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 เท่านั้น ฎีกา
การกระทำอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3) นั้นต้องเป็นการลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ แต่ตามฟ้องบรรยายว่าจำเลยที่ 1 ใช้กุญแจผิดกฎหมายไขตู้โชว์แล้วลักเอาทรัพย์ไป ฉะนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง ก็ไม่ใช่เป็นการลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไป ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันลักทรัพย์ของบริษัทไทยบุรินทร์ จำกัดโดยนางแพทซี่ ผู้จัดการซึ่งเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาไป รวมราคา๑๐๖,๐๐๐ บาท กล่าวคือ จำเลยที่ ๕ ทำหน้าที่ไปส่งและคอยรับจำเลยอีก ๔ คนซึ่งทำอุบายเข้าไปชมและซื้อสินค้าที่ร้าน “แพทซี่” ระหว่างที่ผู้จัดการและพนักงานขายสินค้ากำลังตอบคำถามของจำเลยที่ ๒, ๓, ๔ จนฝ่ายผู้ขายเผลอจำเลยที่ ๑ ได้ใช้กุญแจผิดกฎหมายไขตู้โชว์สินค้าใส่เครื่องประดับที่บรรจุเพชรพลอย อัญมณีมีค่าออก แล้วลักแหวนโอปอล์สีชมพู เพชร และต่างหู(ชนิดและราคาต่าง ๆ ตามฟ้อง) แล้วพากันออกจากร้าน “แพทซี่”ไปขึ้นรถยนต์ที่จำเลยที่ ๕ จอดรถอยู่ พากันหลบหนีไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งห้าได้ และได้ทรัพย์บางส่วน (ตามฟ้อง) ที่จำเลยกับพวกนำไปขายไว้แก่ผู้มีชื่อเป็นของกลาง จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ เคยต้องโทษตามคำพิพากษามาแล้ว ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓๕, ๙๓ กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๑๐๖,๐๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ แต่ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขอรับสารภาพว่าได้ลักทรัพย์ไปตามลำพังผู้เดียว จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ รับข้อเคยต้องโทษ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในตู้โชว์โดยปลดกุญแจออก จำเลยนอกนั้นไม่ได้ร่วมด้วย พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ จำคุก ๒ ปี เพิ่มโทษตามมาตรา ๙๓ กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก ๓ ปี ลดโทษเพราะรับสารภาพกึ่งหนึ่งคงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๔๖,๐๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์ คำขออื่นให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า กุญแจใส่ตู้เก็บทรัพย์ที่ถูกลักไปได้ถูกไขโดยลูกกุญแจที่ผิดกฎหมาย ทั้งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้กุญแจผิดกฎหมายไขจำเลยที่ ๑ รับสารภาพแล้ว จึงลงโทษจำเลยที่ ๑ ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ จำเลยอื่นได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย พิพากษาแก้ว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๓)(๗), ๘๓ จำคุกคนละ ๓ ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๙๓ กึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด จึงไม่เพิ่มไม่ลดตามมาตรา ๕๔ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๔๖,๐๐๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยฎีกาว่า คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ใช้กุญแจผิดกฎหมายไขตู้ลักทรัพย์ในตู้ไปและคำให้การของจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้รับว่าใช้กุญแจผิดกฎหมายไข การกระทำของจำเลยที่ ๑ ต้องด้วยมาตรา ๓๓๔ ลงโทษตามมาตรา ๓๓๕(๓) ไม่ได้ และคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ ขอให้ปล่อยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕
ศาลชั้นต้นสั่งว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก จึงรับฎีกาของจำเลยทั้งห้าไว้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ มีทนายแต่จำเลยที่ ๑ไม่มีทนายฎีกาทำเป็นฉบับเดียว ลงชื่อทนายของจำเลย ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕เป็นผู้ฎีกา จำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่มีทนายไม่ได้ลงชื่อเป็นผู้ฎีกาด้วย ฉะนั้น แม้ฎีกาฉบับนี้จะได้ระบุชื่อของจำเลยที่ ๑ ไว้ในฎีกาหน้าแรกว่าเป็นผู้หนึ่งที่ขอยื่นฎีกาด้วยก็ตาม ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นฎีกาของจำเลยที่ ๑ ด้วย ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งห้าซึ่งหมายรวมถึงจำเลยที่ ๑ ด้วยนั้น จึงคลาดเคลื่อนต้องถือว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และ ที่ ๕ เท่านั้น ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ลักทรัพย์รายนี้ แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าแต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๓)ด้วยนั้น ยังคลาดเคลื่อนอยู่ การกระทำที่จะเข้าบทมาตรานี้ต้องเป็นการลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใด ๆ แต่ตามฟ้องบรรยายว่าจำเลยที่ ๑ ใช้กุญแจผิดกฎหมายไขตู้โชว์ลักเอาทรัพย์ไป ฉะนั้น แม้จะฟังข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องก็ไม่ใช่เป็นการลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๓) แม้จำเลยที่ ๑ไม่ฎีกา แต่เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี
พิพากษาแก้ ว่าจำเลยทั้งห้าไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕(๓) นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share