คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2302/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยดื่มสุราจนมึนเมาแล้วก่อเหตุร้ายขึ้นนั้นไม่ใช่เหตุอันควรปรานีเสมอไป
จำเลยให้การรับว่าได้แทงผู้ตายจริง แต่ต่อสู้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวเช่นนี้ ย่อมถือว่าจำเลยปฏิเสธความผิด โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบจนคดีฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันจึงจะลงโทษจำเลยได้ แม้ต่อมาระหว่างสืบพยานโจทก์จำเลยกลับให้การใหม่ยอมรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งเสมอไปจะต้องพิเคราะห์ด้วยว่า คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเพียงใด หรือไม่ ถ้าการรับสารภาพของจำเลยพอถือได้ว่าเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐานของโจทก์ ก็ไม่เป็นเหตุที่จะปรานีลดโทษให้ถึงกึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๑๒ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยบังอาจใช้มีดแทงทำร้ายโดยเจตนาฆ่านายต้อย แววสูงเนิน จนเป็นเหตุให้นายต้อยได้รับอันตรายแก่กายสาหัส และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ปรากฏตามรายงานชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง เหตุเกิดที่ตำบลหมื่นไวย์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ขอให้ริบมีดของกลาง
ครั้งแรกจำเลยให้การว่าได้ใช้มีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตายจริงแต่เป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ เมื่อสืบพยานโจทก์ไปได้ ๔ ปาก เหลือนายแพทย์ผู้ตรวจบาดแผลอีกปากเดียว จำเลยจึงขอรับสารภาพผิดตามฟ้องโจทก์ทุกประการ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ให้จำคุก ๑๘ ปี จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานไปบ้างแล้วลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๑๒ ปี มีดของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลยเพียง ๑๕ ปี แม้จำเลยจะรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็เห็นสมควรปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๘ ให้จำคุกจำเลยไว้ ๗ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว ทางพิจารณาตามที่โจทก์นำพยานเข้าสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้มีดแทงนายต้อยถึงแก่ความตายจริง
ปัญหามีว่า ควรจะแก้โทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย และลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์แก้โทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ให้เบาลง โดยอ้างว่าจำเลยกระทำผิดขณะเมาสุรานั้น เห็นว่า ในวันเกิดเหตุเป็นวันมีงานขึ้นบ้านใหม่และงานมงคลสมรสของบุตรชายของนางประกอบ ซึ่งเลี้ยงจำเลยเป็นบุตรบุญธรรม ชอบที่จำเลยจะรักษากิริยามารยาทให้เรียบร้อย แต่จำเลยกลับดื่มสุราจนมึนเมาและก่อเหตุร้ายขึ้นในงาน ดังนี้ จึงไม่สมควรปรานีจำเลยโดยอาศัยเหตุที่ว่าจำเลยเมาสุราในขณะกระทำผิด
ส่วนเรื่องลดโทษนั้นเห็นว่า ถ้าปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ศาลจะลดโทษให้จำเลยก็ต่อเมื่อศาลเห็นสมควร และคำให้การของจำเลยจะเป็นเหตุบรรเทาโทษก็ต่อเมื่อให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา คดีนี้จำเลยรับว่าได้แทงผู้ตายจริง แต่ต่อสู้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันที่จำเลยให้การเช่นนี้ย่อมถือว่าจำเลยปฏิเสธความผิด โจทก์จำเป็นจะต้องนำพยานเข้าสืบจนคดีฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกัน จึงจะลงโทษจำเลยได้ แม้ต่อมาในระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยกลับให้การใหม่ยอมรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ และศาลอุทธรณ์เห็นว่ายังสมควรลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งถึงแม้จะสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วโดยเหตุผลเพียงแต่ว่าโจทก์จะต้องสืบพยานประกอบอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวนี้ยังไม่ถูกต้องแต่พึงพิเคราะห์ด้วยว่า คำรับสารภาพของจำเลยนั้น เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเพียงใดหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายสมพงษ์บุญล้ำ พยานโจทก์ผู้ซึ่งนำปลาหมึกไปขายอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุก็ปรากฏว่าผู้ตายทำหน้าที่ดูแลรถของแขกที่มาในการกินเลี้ยง จำเลยมาแทงผู้ตายในขณะปฏิบัติงานในหน้าที่อยู่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำเข้าสืบก่อนจำเลยรับสารภาพเป็นหลักฐานมั่นคง คงเหลือแต่แพทย์ผู้ตรวจบาดแผลแต่ผู้เดียวเท่านั้น การรับสารภาพของจำเลยพอถือได้ว่าเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐานของโจทก์ ศาลชั้นต้นปรานีลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามนั้น ย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยเป็นอย่างมากอยู่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุกจำเลยและปรานีลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share