คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร ได้ออกประกาศระบุชื่อหรือประเภทสิ่งของและกำหนดราคาสูงสุดของสิ่งของนั้นตามข้อ 1 มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2490 กับห้ามขายสิ่งของที่ระบุชื่อนั้นเกินราคาที่กำหนดย่อมเท่ากับสั่งห้ามมิให้ค้ากำไรเกินควรในสิ่งของนั้นในเขตท้องที่ที่อยู่ในอำนาจไว้ก่อนแล้ว แล้วได้ออกประกาศห้ามนำสิ่งของที่ระบุชื่อไว้แล้วนั้น นอกเขตท้องที่เข้ามาในท้องที่ อันเป็นการสั่งการเกี่ยวกับสิ่งของที่ห้ามมิให้ค้ากำไรเกินควรตามข้อ 6 ในมาตรา 8 แม้ต่อมาจะได้ออกประกาศอีกฉบับหนึ่งยกเลิกประกาศฉบับแรกแต่ก็เป็นเรื่องและมีข้อความอย่างเดียวกัน เว้นแต่ราคาสูงสุดของสิ่งของที่ห้ามค้ากำไรเกินควรเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้ ถือได้ว่าคณะกรรมการฯ ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามลำดับดังที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ประกาศห้ามนำสิ่งของนอกเขตจังหวัดเข้ามาในเขตจังหวัดจึงมีผลบังคับใช้ได้
ประกาศระบุข้อความไว้แล้วว่าเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควรเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงในสำนวนจะให้ฟังได้เป็นอย่างอื่นก็ต้องฟังว่าประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 33/2514)

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องด้วยวาจา ศาลแขวงธนบุรีบันทึกคำฟ้องไว้ว่า เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๔ เวลา ๕.๐๐ นาฬิกา จำเลยทราบประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร จังหวัดธนบุรีฉบับที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๐๒ ฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ ฉบับที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว บังอาจฝ่าฝืนนำน้ำแข็งบรรทุกรถยนต์จากนอกเขตจังหวัดธนบุรีเข้าไปจำหน่ายในเขตจังหวัดธนบุรี แล้วน้ำแข็งนั้นไม่ใช่น้ำแข็งที่ได้รับยกเว้นตามประกาศ เหตุเกิดที่ตำบลบางแคเหนือ อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘, ๑๗ ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ ฉบับที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๐๒ และฉบับที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๗, ๘
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ประกาศที่โจทก์ฟ้องไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘, ๑๗ ปรับ ๕๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงปรับ ๒๕๐ บาท และให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๖, ๗, ๘ ด้วย
จำเลยฎีกาว่า ประกาศของคณะกรรมการฯ ฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ มีข้อความไม่ครบถ้วน และมิได้มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการค้ากำไรเกินควรตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ เป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับ เป็นการไม่ชอบ
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาที่ว่า ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ที่โจทก์ฟ้องจะมีผลใช้บังคับได้และมีวัตถุประสงค์นอกเหนือจากการป้องกันการค้ากำไรหรือไม่โดยที่ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า ประกาศที่โจทก์ฟ้องได้ประกาศโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการมีอำนาจระบุชื่อหรือประเภทสิ่งของและสั่งห้ามมิให้ค้ากำไรเกินควรในสิ่งของนั้นในเขตท้องที่ที่อยู่ในอำนาจท้องที่ใดท้องที่หนึ่งหรือทั้งหมด เมื่อได้ปฏิบัติดังกล่าวนี้แล้ว ก็ให้มีอำนาจสั่งการที่เห็นสมควรเกี่ยวกับสิ่งของที่ห้ามค้ากำไรเกินควรตามวิธีการที่ระบุไว้ในข้อ ๑ ถึง ๘ แห่งมาตรานี้ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ได้ออกประกาศฉบับที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๐๒ ระบุชื่อน้ำแข็งว่าเป็นสิ่งของที่ต้องควบคุมและกำหนดราคาสูงสุดไว้ตามมาตรา ๘(๑) กับห้ามมิให้ผู้ใดขายน้ำแข็งเกินราคาที่กำหนด ซึ่งเท่ากับสิ่งห้ามมิให้ค้ากำไรเกินควรในเขตท้องที่อันพอแปลได้ว่า ในเขตจังหวัดธนบุรี และต่อมาได้ออกประกาศฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ ห้ามนำน้ำแข็งนอกเขตจังหวัดเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัดธนบุรี อันเป็นการสั่งการเกี่ยวกับสิ่งของที่ห้ามมิให้ค้ากำไรเกินควร ตามมาตรา ๘(๖) ต่อเนื่องจากประกาศฉบับที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงไม่จำต้องระบุซ้ำอีกว่า ห้ามค้ากำไรเกินควรดังที่จำเลยฎีกา จริงอยู่ภายหลังได้มีประกาศฉบับที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ ยกเลิกประกาศฉบับที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๐๒ แต่ประกาศฉบับที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็มีข้อความเช่นเดียวกับประกาศ ฉบับที่ ๔๙ พ.ศ. ๒๕๐๒ เว้นแต่กำหนดราคาสูงสุดของน้ำแข็งเท่านั้นที่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้เมื่อคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้า กำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ได้ปฏิบัติการตามลำดับดังที่กฎหมายได้กำหนดไว้ครบถ้วนทุกประการแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี มิได้มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการค้ากำไรเกินควรนั้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า ประกาศฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้ระบุไว้ตอนต้นแล้วว่า เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร และทั้งข้อเท็จจริงในสำนวนนี้ไม่เพียงพอที่จะให้ฟังว่าประกาศฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่กล่าวนั้น เป็นการนอกเหนือวัตถุประสงค์ในการป้องกันการค้ากำไรเกินควร ประกาศคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดธนบุรี ฉบับที่ ๕๐ พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงมีผลบังคับใช้ได้ จำเลยฝ่าฝืนก็ต้องมีความผิด
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ามีผู้แจ้งความนำจับ และโจทก์มิได้อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้ไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมด้วยจึงเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้อ้างพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๗, ๘ ไว้ในบันทึกท้ายคำฟ้องแล้ว และเมื่อโจทก์อุทธรณ์ก็ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม จึงไม่เกินคำขอ ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share