คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จดทะเบียนการค้าคำว่า “DEGUADIN” ซึ่งใช้กับสินค้ายาอมแก้เจ็บคอ แก้หวัด และอาการที่คล้ายคลึงกันมาประมาณ10 ปีแล้ว จำเลยมาขอจดทะเบียน คำว่า “DEORADIN” ใช้กับสินค้ายาอมแก้เจ็บคอและหวัดเช่นเดียวกัน เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยเป็นตัวอักษรโรมันทั้งหมด 8 ตัวเท่ากัน พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดไล่เลี่ยกัน ตัวอักษรเหมือนกันถึง 6 ตัว คือ ตัวหน้า 2 ตัว ตัวท้าย 4 ตัว คงผิดกันแต่ตัวกลางสองตัว คือ ของโจทก์ GU ของจำเลยเป็น OR คนที่ไม่สันทัดจัดเจนในภาษาต่างประเทศมองดูแล้วอาจหลงผิดคิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกันได้ง่ายสำเนียงที่เรียกขานก็คล้ายคลึงกัน เพราะขึ้นต้นด้วยคำว่า “D” ลงท้ายสำเนียง “DIN” เหมือนกัน เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีลักษณะคล้ายกันจนถึงกับนับได้ว่าเป็นลวงสาธารณชนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “DEGUADIN” ซึ่งใช้กับสินค้ายาอมแก้เจ็บคอ แก้หวัด และอาการที่คล้ายคลึงกัน ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ จำเลยได้ผลิตยาอมใช้แก้เจ็บคอและหวัดจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “DEORADIN” อันเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทั้งปรากฏว่าเม็ดยา การบรรจุเม็ดยา หลอด ขนาด ลักษณะของหลอดและกล่อง รวมทั้งลักษณะลวดลาย สีสรร และสิ่งประกอบอื่นของกล่องบรรจุยา จำเลยได้ลอกเลียนแบบไปจากโจทก์ทั้งสิ้น โจทก์คัดค้านต่อนายทะเบียนแล้ว นายทะเบียนวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่ขัดต่อมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า เพราะไม่เหมือนกันจนนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนขอให้ศาลห้ามจำเลยดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่อไป ห้ามจำเลยใช้หลอดบรรจุยา กล่องบรรจุยาทุกขนาดที่เหมือนคล้ายกับโจทก์ และใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนกับของโจทก์ กล่องยาของจำเลยมีภาษาอังกฤษและไทยกำกับอีกด้วย ของโจทก์มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ถ้าหากจำเลยจะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว จำเลยจะไม่เขียนภาษาไทยที่กล่องว่า “ยาอมดีโอราดีน” ลงไป กล่องยาของโจทก์สีส้มมีคำว่า “แกล๊กโซ” แต่ของจำเลยสีแสดและมีอักษร บี.พี. สาธารณชนไม่มีทางเข้าใจผิดได้ ค่าเสียหายนั้น โจทก์มิได้บรรยายว่าเสียหายอย่างใดบ้าง เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงรับว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องและวันนัดสืบพยานจำเลยคู่ความแถลงร่วมกันว่าให้ศาลวินิจฉัยไปตามหลักฐานวัตถุพยานที่โจทก์ส่งศาลไว้ และตามสำเนาภาพถ่ายท้ายฟ้องว่าเป็นการเลียนแบบและทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ เป็นข้อแพ้ชนะถ้าศาลตัดสินให้โจทก์ชนะ จำเลยยอมใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ๒,๐๐๐ บาท และจำเลยยอมรับว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้มาก่อนของจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นการเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนถึงกับเห็นได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการลวงสาธารณชนให้เข้าใจผิดสับสนกันได้ห้ามจำเลยดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย ๒,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ห้ามจำเลยใช้หลอดบรรจุยา กล่องบรรจุยาด้วย
จำเลยอุทธรณ์ว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เหมือนหรือคล้ายกับของโจทก์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วและของจำเลยที่เพิ่งจดทะเบียน มีลักษณะคล้ายคลึงกันจนถึงกับนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนได้ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นและเห็นว่าโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลห้ามจำเลยใช้หลอดและกล่องบรรจุยาทุกขนาดที่มีเครื่องหมายการค้าคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ด้วย จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ห้ามจำเลยใช้หลอดบรรจุยา กล่องบรรจุยาทุกขนาดที่เหมือนคล้ายคลึงกับของโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกยาอมแก้หวัด แก้เจ็บคอเช่นเดียวกันเป็นตัวอักษรโรมัน ๘ ตัวเท่ากัน พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดไล่เลี่ยกันตัวอักษรเหมือนกันถึง ๖ ตัว ตัวหน้า ๒ ตัวตัวท้าย ๔ ตัว คงผิดกันแต่ตัวกลางสองตัวของโจทก์เป็น GV ของจำเลยเป็น OR เท่านั้น คนที่ไม่สันทัดจัดเจนในภาษาต่างประเทศดูเครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยดังกล่าว อาจหลงผิดคิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกันได้ง่าย ทั้งสำเนียงที่เรียกขานก็คล้ายคลึงกัน เพราะขึ้นต้นด้วยสำเนียงคำว่า “D” และลงท้ายด้วยสำเนียง “DIN” เหมือนกัน ศาลฎีกาเห็นว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน จนถึงกับนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนได้
พิพากษายืน

Share