คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1262/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสี่ปล้นบ้านเจ้าทรัพย์ โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ขึ้นไปปล้นบนบ้านส่วนจำเลยที่ 1 คอยเฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่ริมรั้วขณะจำเลยกำลังทำการปล้นอยู่บนบ้านส่วนจำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงพวกเจ้าทรัพย์คนหนึ่งถึงแก่ความตาย ดังนี้ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 340 วรรคท้าย จำเลยนอกนั้นไม่รู้เห็นในการที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตาย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ทำนองนั้น มิได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนและมีด ทำการปล้นทรัพย์ของเจ้าทรัพย์โดยขู่เข็ญ เจ้าทรัพย์และใช้ปืนยิงนายดี อินต๊ะแสน พวกเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า เพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓ และขอให้สั่งคืนปืนแก๊ปแก่เจ้าทรัพย์ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๖๕๐ บาทแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓ ให้ลงโทษตามมาตรา ๓๔๐ ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุกจำเลยทั้งสี่คนไว้ตลอดชีวิต จำเลยทุกคนให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘, ๕๓ คงจำคุกจำเลยไว้คนละ ๑๖ ปี คืนปืนของกลางแก่เจ้าทรัพย์ ให้จำเลยช่วยกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน ๖๕๐ บาท แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยทั้งสี่คนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยทั้งสี่คนกระทำผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลชั้นต้นให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ซึ่งเป็นบทหนักนั้นยังคลาดเคลื่อนอยู่ ชอบที่จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจแก้ไขได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่คนฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า คืนเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่คนเข้าไปปล้นบ้านเจ้าทรัพย์ โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ขึ้นไปบนบ้านเจ้าทรัพย์ จำเลยที่ ๓ เอามีดจ่อคอและจับคอเสื้อนางยู่ภรรยาเจ้าทรัพย์ จำเลยที่ ๒ เอาปืนลูกซองสั้นจ่อหลังนายหมวกเจ้าทรัพย์ จำเลยที่ ๓ ล้วงเงินในกระเป๋าเสื้อนางยู่ไป ๔๐ บาท เอาเงินที่ซุกไว้ใต้เสื่อลำแพนไปอีก ๒๖๐ บาท แล้วหยิบปืนแก๊ปยาวของเจ้าทรัพย์ส่งให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งอยู่บนพื้นดิน จำเลยที่ ๑ ซึ่งคอยเฝ้าระวังเหตุการณ์อยู่ริมรั้วใช้ปืนยิงนายดีพวกเจ้าทรัพย์ ๒ นัดเป็นเหตุให้นายดีถึงแก่ความตาย แล้วจำเลยที่ ๑ ก็เรียกจำเลยอื่นที่อยู่บนเรือนให้กลับ จำเลยทุกคนพากันกลับไปโดยจำเลยที่ ๔ หยิบวิทยุบนเรือนไปด้วย จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ผู้เดียวเป็นผู้ยิงนายดี เพื่อความสะดวกในการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ จึงควรมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๓๔๐ วรรคท้าย เฉพาะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่รู้เห็นในการที่จำเลยที่ ๑ ยิงนายดี จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ขึ้นมาศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจแก้ไขได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เพราะมาตรา ๒๑๒ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ทำนองนั้น มิได้ห้ามมิให้ศาลปรับบทกฎหมายที่ถูกต้องลงโทษจำเลย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๓๔๐ วรรคท้าย ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นบทกฎหมายซึ่งมีโทษหนักที่สุดให้วางโทษประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘, ๕๒ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๑๖ ปี จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย วางโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไว้ตลอดชีวิต จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ รับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘, ๕๓ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไว้คนละ ๑๖ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share