คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีอาญาที่โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางนั้น เจ้าของทรัพย์สินของกลางจะมีคำเสนอหรือคำร้องต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาคดีนั้นก็ได้ ซึ่งศาลชั้นต้นจำต้องรับคำเสนอหรือคำร้องนั้นไว้เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 33 วรรคท้าย หรือมาตรา 34
ในกรณีที่ศาลได้สั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 แล้วเจ้าของอันแท้จริงมีสิทธิที่จะทำคำเสนอต่อศาลตามมาตรา 36 ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ก็ตาม และถ้าปรากฏตามคำเสนอดังกล่าวว่าเจ้าของอันแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น ศาลก็ต้องสั่งให้คืนทรัพย์สินแก่เจ้าของอันแท้จริงถ้าทรัพย์นั้นยังคงมีอยู่แต่คำเสนอนี้จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและขอให้ริบรถยนต์ของกลาง โดยเหตุที่เป็นรถยนต์ที่ใช้ในการกระทำความผิด
ระหว่างพิจารณาคดีนี้ของศาลชั้นต้น ผู้ร้องยื่นคำร้องว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นของผู้ร้องให้จำเลยเช่าซื้อไป จำเลยชำระเงินค่าเช่าซื้อเพียง ๒ งวดแล้วไม่ชำระอีก ผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้สั่งคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องร้องมาในฐานะอะไร และไม่มีมูลที่จะอ้างตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องเสีย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีนี้ต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและให้ริบรถยนต์ของกลาง คดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ตามคำร้องของผู้ร้องต้องฟังข้อเท็จจริงก่อน พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องและทำการไต่สวนจนสิ้นกระแสความแล้วมีคำสั่งต่อไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖ มีความหมายว่า “…เมื่อศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ แล้วไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ถ้าปรากฏตามคำเสนอของเจ้าของอันแท้จริงว่ามิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น ศาลต้องสั่งให้คืนทรัพย์สินแก่เจ้าของอันแท้จริง ในเมื่อทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ แต่คำเสนอนี้ต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น ความในมาตรา ๓๖ มิได้บังคับว่าเจ้าของอันแท้จริงจะมีคำเสนอต่อศาลในระหว่างพิจารณาก่อนศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นไม่ได้และจะเห็นได้จากมาตรา ๓๓ กับมาตรา ๓๔ ที่มาตรา ๓๖ อ้างถึงว่า ศาลจะริบทรัพย์สินนั้นไม่ได้ ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖(๙) คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลจะต้องมีคำวินิจฉัยในเรื่องของกลาง เพราะฉะนั้นเจ้าของทรัพย์สินของกลางในคดีอาญาที่โจทก์มีคำขอให้ริบ จะมีคำเสนอหรือคำร้องต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาคดีนั้นอยู่ก็ได้ และศาลชั้นต้นจะต้องรับคำเสนอหรือคำร้องนั้นไว้ เพื่อพิจารณาต่อไปเพื่อจะได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องริบทรัพย์สินของกลางได้ถูกต้องตามความในวรรคท้ายของมาตรา ๓๓ หรือมาตรา ๓๔ แต่ถ้าศาลมีคำพิพากษาให้ริบไปแล้ว มาตรา ๓๖ จึงให้โอกาสเจ้าของอันแท้จริงมีคำเสนอต่อศาลในภายหลังได้ในระหว่างพิจารณาของศาลลงโดยไม่มีกำหนดเวลาในระหว่างนี้ เพียงแต่มีกำหนดเวลาบังคับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วว่า คำเสนอหรือคำร้องนั้นต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดที่ให้ริบทรัพย์สินนั้น…”
พิพากษายืน

Share