แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของรวมในที่ดินมีโฉนดแบ่งแยกที่ดินเป็นหลายแปลงเพื่อขาย ได้ตกลงกันให้ที่ดินตามเลขโฉนดเดิมที่เหลืออยู่เป็นถนนสำหรับผู้มาซื้อที่ดินออกสู่ถนนใหญ่และได้ทำเป็นถนนคอนกรีตขึ้นในที่ดินส่วนนี้ โดยตกลงกันสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากผู้ใช้ถนนนี้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันระหว่างกันใช้บังคับกันได้ โดยมิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนและเป็นการตกลงกันที่แสดงให้เห็นว่ามีวัตถุประสงค์จะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่กลายเป็นถนนคอนกรีตไปแล้วนี้ร่วมกัน มีลักษณะเป็นการถาวรเจ้าของรวมผู้มีชื่อในโฉนดคนหนึ่งคนใดไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินนั้นได้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าที่ดินโฉนดที่ ๑๒๒๔ เป็นของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ คนละกึ่ง ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยินยอมให้จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และจำเลยแบ่งแยกโฉนดออกเป็นหลายแปลง ให้มีชื่อโจทก์และจำเลยในแต่ละแปลงคงเหลือที่ดินตามโฉนดที่ ๑๒๒๔ เดิม ๖๗ ตารางวา และมีชื่อโจทก์จำเลยทุกคนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เฉพาะของโจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่ ๓๓ ตารางวาครึ่งโจทก์ขอแบ่งแยกส่วนของโจทก์ออกจำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับให้จำเลยแบ่งที่ดิน หากไม่อาจตกลงกันได้ก็ให้ประมูลราคากันหรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกัน
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่ได้ตกลงแบ่งที่ดินรายนี้ออกเป็นของแต่ละคนแต่ให้กันที่ดินคั่นกลางระหว่างที่ดินขอโจทก์จำเลยไว้เป็นทางผ่านเข้าออกจึงได้แบ่งที่ดินออกเป็น ๑๓ โฉนด ให้โฉนดที่ ๑๒๒๔ เป็นโฉนดกลางสำหรับเป็นทางผ่านมีชื่อโจทก์จำเลยทุกคนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แล้วทำถนนคอนกรีตในที่ดินโฉนดที่ ๑๒๒๔ ให้เป็นทางเข้าออกของที่ดินทั้งหมดจนกลายเป็นทางจำเป็นตลอดมา จึงเป็นที่ดินที่ไม่สามารถนำไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้ต่อไป
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓, ๔ ให้การว่าได้ร่วมกันซื้อที่ดิน ๙๔ ตารางวา อันเป็นส่วนของจำเลยที่ ๑ เมื่อแบ่งแยกจากโฉนดที่ ๑๒๒๔ แล้ว จำเลยทั้งสองก็เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๕๒๐๙ ส่วนที่ดินโฉนดที่ ๑๒๒๔ เป็นถนนคอนกรีตกว้างประมาณ ๔ เมตร ผ่านที่ดินที่แบ่งแยกทุกแปลงใช้เข้าออกสู่ถนนใหญ่จึงใส่ชื่อโจทก์จำเลยทุกคนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเพื่อใช้เป็นทางเข้าออก อันเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งโดยไม่มีสิทธิจะเอาที่ดินรายนี้ไปหาผลประโยชน์ใด ๆ นอกจากใช้ถนนนี้เข้าออก
ชั้นชี้สองสถาน โจทก์แถลงรับว่าที่ดินพิพาทได้ทำเป็นถนนคอนกรีตใช้เป็นทางเดินร่วมของโจทก์และจำเลยซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วม ตามแผนที่หลังโฉนดที่ ๑๒๒๔ และเป็นทางออกสู่ถนนศรีอยุธยาเพียงทางเดียว ทางนี้กว้าง ๔ เมตรและที่ดินที่แบ่งออกไปเป็นที่ดินที่ล้อมรอบถนนซึ่งเป็นที่ดินพิพาท ก่อนที่จะทำถนนได้ตกลงกันว่าเมื่อทำเป็นถนนคอนกรีตแล้วจะใช้ถนนนี้เป็นทางเดินร่วมกันแต่เป็นการตกลงด้วยวาจาไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อแบ่งที่ดินกันแล้วก็ยังมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ ที่พิพาทจึงไม่ใช่ทางจำเป็นการตกลงกันว่าจะใช้ที่พิพาทเป็นทางเข้าออกไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนย่อมไม่บริบูรณ์ พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่พิพาทให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งไม่ตกลงกันได้ก็ให้ประมูลราคาหรือขายทอดตลาดแบ่งเงินกัน
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่พิพาทเป็นทางที่เจ้าของรวมได้กันไว้เป็นทางเข้าออกการที่โจทก์จำเลยตกลงกันเมื่อทำทางนี้ก็เพื่อใช้สอยร่วมกัน ข้อตกลงนี้จึงเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดบุคคลสิทธิบังคับได้ระหว่างโจทก์จำเลย และโจทก์จำเลยตกลงกันทำเป็นถนนคอนกรีต โจทก์เองก็รับว่าเดิมตั้งใจจะยกที่พิพาทให้เป็นที่สาธารณะ แสดงชัดว่าข้อกตกลงหรือวัตถุประสงค์ของโจทก์จำเลยให้ใช้ทางพิพาทนี้มีลักษณะเป็นการถาวรตลอดไป โจทก์จึงถูกจำกัดมิให้ใช้สิทธิแบ่งทรัพย์รายพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๓ วรรค ๑ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าที่ดินโฉนดที่ ๑๒๒๔ ซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์คนละครึ่งนั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ทางเดียวคือทางสะพานข้ามคูริมถนนศรีอยุธยา จำเลยที่ ๑ ได้ขายที่ดินส่วนของตน ๙๔ ตารางวาให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ระหว่างที่แบ่งแยกโฉนดยังไม่เสร็จได้ใส่ชื่อจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ลงในโฉนดที่ ๑๒๒๔ ด้วยโดยให้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในส่วนของจำเลยที่ ๑ ต่อมาได้แบ่งแยกที่ดินแปลงนี้เป็น ๑๑ แปลง ออกโฉนดใหม่ ๑๒ โฉนด ส่วนของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ซื้อจากจำเลยที่ ๑ ได้โฉนดเลขที่ ๕๒๐๙ โฉนดที่ ๑๒๒๔ คงเหลือที่ดิน ๖๗ ตารางวา ได้ทำเป็นถนนคอนกรีตระหว่างกลางที่ดินที่แบ่งแยกเป็นแปลง ๆ นี้โดยใส่ชื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสี่เป็นเจ้าของร่วมกันในที่พิพาทซึ่งมีสภาพเป็นถนนคอนกรีตไปแล้ว
เหตุที่ทำถนนคอนกรีตมีขึ้นเป็นที่รับกันว่าเพื่อต้องการขายที่ดินด้านในให้มีราคาสูงขึ้น และให้ผู้ที่จะมาซื้อที่ดินมีทางออกไปสู่ถนนศรีอยุธยาได้ ตัวโจทก์เองก็เบิกความว่าตอนที่แบ่งแยกโฉนดได้ตกลงกันว่าให้ที่ดินโฉนดที่ ๑๒๒๕ เป็นส่วนกลางสร้างขึ้นเป็นถนน ใครจะใช้ก็ได้โดยโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ออกเงินทำถนนและตกลงกันว่าสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากผู้ใช้ถนนนี้ ขณะแบ่งแยกโฉนดโจทก์ตั้งใจว่าถ้าขายที่ดินได้หมด ๑๒ แปลงก็จะยกถนนให้เป็นทางสาธารณะให้ผู้ซื้อที่ดินใช้เป็นทางเข้าออก ตามพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ นั้น ย่อมมีผลผูกพันใช้บังคับได้โดยมิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่และเป็นการตกลงที่แสดงให้เห็นว่ามีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นเจ้าของที่พิพาทที่กลายเป็นถนนคอนกรีตแล้วนี้ร่วมกันมีลักษณะเป็นการถาวร ทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ มีชื่อเป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่พิพาทนั้น ก็เชื่อได้ว่าโจทก์คงได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ทราบถึงข้อตกลงกันนี้แล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๓ วรรค ๑
พิพากษายืน