คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลย 2 คนว่า เข้าไปยึดถือที่ดินครอบครองแปลงหนึ่งของโจทก์คนละส่วนคนละตอน คำฟ้องไม่ปรากฏข้ออ้างว่าจำเลยร่วมกันทำละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้โจทก์จะได้รวมฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาเป็นคดีเดียวกัน การที่จะดูว่าคดีอย่างนี้มีทุนทรัพย์เท่าใด จะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ นั้น จะต้องถือตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนต่างเข้าไปละเมิดยึดถือ ไม่ใช่ว่าจะนับรวมกันได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๕โจทก์ซื้อที่ดิน ๑ แปลงจากนายบุญ ตรีเหลา เนื้อที่ ๖ ไร่ อยู่ตำบลสมเด็จกิ่งอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ โจทก์เข้าครอบครองแต่วันทำสัญญาซื้อขายโจทก์แจ้งการครอบครองต่อเจ้าพนักงาน เจ้าพนักงานออกหนังสือสำคัญ ส.ค.๑ให้แล้ว โจทก์เคยขอจัดตั้งโรงงานแปรรูปไม้บนที่ดินแปลงนี้ ระหว่างรอการอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ โจทก์มอบให้นายบุญ ตรีเหลา เจ้าของเดิมเป็นผู้ดูแลที่ดิน และมอบเงินให้เสียค่าบำรุงท้องที่แทน จำเลยที่ ๑ เข้าไปปลูกอาคารโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างลงทางด้านทิศเหนือ รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ จำเลยที่ ๒ เข้าไปปลูกเรือนและสิ่งปลูกสร้างลงในที่ดินรายนี้ทางด้านใต้ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ดังแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง เป็นที่ดินราคาประมาณ ๕,๐๐๐ บาท โจทก์ขอร้องให้จำเลยออกจากที่ดิน จำเลยไม่ยอมอ้างว่าทางราชการออกหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ให้แล้ว ขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดิน ให้ทำลายหนังสือ น.ส.๓ หรือโฉนดถ้าหากว่ามีนั้นเสีย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่พิพาทนี้ทั้งโจทก์หรือนายบุญ ตรีเหลาไม่เคยครอบครองหรือครอบครองแทนโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทติดต่อกันมา ๕ ปีเศษแล้ว จำเลยที่ ๑ ซื้อที่พิพาทมาจากนายบุญมา โพธินามราคา ๓,๐๐๐ บาท ได้ทำหนังสือจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๐๖ซื้อแล้วก็ครอบครองอยู่ตลอดมา จำเลยที่ ๒ ซื้อที่พิพาทมาจากนางแฉล้มพิมพะทิศ เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๐๕ เป็นราคาเงิน ๔,๐๐๐ บาททำหนังสือกันไว้เป็นหลักฐาน นางแฉล้มมอบใบจอง (น.ส.๒) ให้จำเลยที่ ๒ยึดถือไว้ด้วย และมอบที่พิพาทให้จำเลยที่ ๒ ครอบครองทันทีตั้งแต่วันซื้อต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ออกโฉนดให้แก่จำเลยที่ ๒ แล้วเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๗
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย และจำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือ น.ส.๓ และในโฉนดสำหรับที่พิพาทนั้นแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์นั้นไม่ปรากฏชัดอ้างว่าจำเลยสองคนนี้ร่วมกันทำละเมิดสิทธิในที่ดินของโจทก์หรืออย่างไร กลับปรากฏแต่เพียงว่าจำเลยสองคนนี้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์กันคนละส่วนคนละตอนซึ่งตามธรรมดาโจทก์ก็ย่อมจะฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคนละคดีได้ แม้หากโจทก์จะได้รวมฟ้องทั้งสองคนเข้ามาเป็นคดีเดียวกันแล้วเช่นนี้ การที่จะดูว่าคดีอย่างนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์เท่าใดนั้นย่อมจะต้องถือเอาตามราคาทรัพย์ที่ดินของแต่ละคนที่ต่างคนต่างเข้าไปละเมิดยึดถือ ไม่ใช่ว่าจะนับรวมกันได้โจทก์ตั้งราคาที่ดินทั้งแปลงที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เข้ายึดถือรวมกันมาราคา๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เฉพาะแปลงที่จำเลยที่ ๑ ซื้อมาราคา๓,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ให้การว่าแปลงที่ตนซื้อมาราคา ๔,๐๐๐ บาทดูจากที่โจทก์ว่ามาก็ดี หรือจากที่จำเลยว่ามาก็ดีเป็นการแสดงว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คู่ความจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ต้องห้ามตามมาตรา ๒๔๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉะนั้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย

Share