คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1546/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อที่ขอให้ใช้ทรัพย์มิใช่เป็นการแก้ไขมาก จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ ได้เรียกเงินจากผู้ที่จำเลยจับกุมตัวมาแล้วปล่อยผู้ต้องหาไป อันเป็นการเรียกหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหาย อันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 5 หามีความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 อีกบทหนึ่งด้วยไม่ และเมื่อการกระทำของจำเลยมิได้เป็นผิดตามมาตรา 337 แล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยใช้ทรัพย์หรือคืนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นตำรวจ ได้จับกุมตัวผู้เสียหายไปฐานนำเนื้อสุกรข้ามเขต และได้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้เสียหายให้เงินแก่จำเลย แล้วจะปล่อยตัวไป ถ้าไม่ยอมให้เงินจะนำตัวส่งไปดำเนินคดี จะต้องถูกฟ้องศาลกักขังและติดตะราง แล้วจะต้องถูกออกจากงานอีก อันเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพและชื่อเสียงของผู้เสียหาย ผู้เสียหายกลัวจึงยอมมอบเงินให้จำเลยแล้วจำเลยได้ปล่อยตัวผู้เสียหายไป ไม่นำส่งดำเนินคดีตามหน้าที่ของจำเลย เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๔๙, ๑๕๗, ๓๓๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๔, ๕, ๑๓ และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่โดยชอบ ขู่เข็ญเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายแล้วปล่อยตัว ไม่นำส่งพนักงานสอบสวนตามหน้าที่ของจำเลยเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒มาตรา ๕ จำคุกจำเลยมีกำหนด ๕ ปี และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๒๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗อีกบทหนึ่งด้วย
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ปล่อยจำเลย
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยเรียกร้องจากผู้เสียหาย๒๐๐ บาทนั้น ฟังได้และการกระทำของจำเลยมิได้เป็นความผิดฐานกรรโชกดังที่โจทก์อุทธรณ์ โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๒๐๐ บาทให้ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๓ พิพากษาแก้ให้ยกคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๒๐๐ บาทให้นายแดงหรือพีระ แสงดี ผู้เสียหายนอกนั้นยืน
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยยังผิดต่อประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๗ และให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๒๐๐ บาทให้ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๕ ปี แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ให้ยกคำขอของโจทก์ในข้อที่ขอให้ใช้ทรัพย์ ก็มิใช่เป็นการแก้ไขมาก จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา ๒๑๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและฎีกาว่าโจทก์มิได้บรรยายในฟ้องขอให้ลงโทษหรือประสงค์ให้ลงโทษศาลฎีกาได้พิเคราะห์ฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่าฟ้องโจทก์แสดงถึงข้อกล่าวหาโดยแจ้งชัดและจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว และโจทก์ได้อ้างมาตราในกฎหมายที่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยแล้ว ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นผิดตามมาตรา ๓๓๗ ดังโจทก์ฎีกาหรือไม่นั้น เห็นว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ จำเลยเรียกเงินจากผู้ที่จำเลยจับกุมแล้วปล่อยตัวผู้ต้องหาไป อันเป็นการเรียกหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบเพื่อละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายอันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ของจำเลยจำเลยจึงต้องมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๕ หามีผิดฐานกรรโชกอีกบทหนึ่งไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยมิได้เป็นผิดตามมาตรา๓๓๗ แล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจขอให้จำเลยใช้ทรัพย์หรือคืนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์ จำเลย

Share