แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 มาตรา 15(7) บัญญัติถึงลักษณะคนต่างด้าวที่ต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรว่า ‘มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นคนอันธพาลหรือเป็นคนที่น่าจะก่อเหตุร้าย หรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือราชอาณาจักร’ แต่โจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงในคำฟ้องให้เห็นว่า ผู้โดยสารที่จำเลยนำมากับเครื่องบินเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะเช่นนั้น โจทก์กล่าวหาในฟ้องแต่ประการเดียวว่า ผู้โดยสารคนนั้นเป็นคนต่างด้าวที่ต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักร เพราะมีเชื้อชาติรูเมเนียในเครือของประเทศคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่มีสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตกับประเทศไทย ข้อกล่าวหาของโจทก์จึงมิได้แสดงว่า ผู้โดยสารคนนั้นเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 15(7)แต่อย่างใด
หนังสือของกองตรวจคนเข้าเมืองถึงบริษัทการบินทุกบริษัทมีความว่า ขอมิให้รับบุคคลสัญชาติของประเทศที่ไม่มีสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยหรือคนของประเทศค่ายคอมมิวนิสต์ และไม่มีสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยเข้ามาในราชอาณาจักร หรือเดินทางต่อไปประเทศอื่น เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ดังนั้น การที่บุคคลดังกล่าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนหนังสือฉบับนี้ หรือการที่จำเลยรับบุคคลดังกล่าวนี้มากับเครื่องบินของจำเลยมาลงที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เพื่อบินต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยไม่ต้องด้วยหนังสือขอความร่วมมือ จึงหาเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นกัปตันเครื่องบิน ได้นำเอาบุคคลในเครือของประเทศคอมมิวนิสต์ ไม่มีสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตกับประเทศไทย เป็นบุคคลต่างด้าวที่ต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรให้เข้ามาในราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. ๒๔๙๓ มาตรา ๑๕(๗), ๖๒ และพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยไม่ได้ช่วยเหลืออุปการะให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางโรเซ็นสไวด์ เทเลเซีย มาลงที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ และเข้าพักในห้องผ่านของสนามบินเพื่อเดินทางต่อไป ถือได้ว่าเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ข้อตกลงการบินพลเรือนก่อสร้างเขตอิสระ (FREE ZONE) ติดต่อกับท่าอากาศยานอิสระ เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นภาษีในการจัดสรรระเบียบเพื่อความสะดวกแก่การดำเนินการบินพลเรือนเท่านั้น หาเป็นเหตุถึงกับจะถือว่าเขตอิสระไม่อยู่ในราชอาณาจักรไม่ ปัญหาว่านางโรเซ็นสไวด์ เทเลเซียเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ โจทก์กล่าวหาในฟ้องแต่ประการเดียวว่า นางโรเซ็นสไวด์ เทเลเซีย เป็นคนต่างด้าวที่ต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเพราะมีเชื้อชาติรูเมเนียในเครือของประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่มีสัมพันธ์ไมตรีทางการทูตกับประเทศไทยข้อกล่าวหาของโจทก์ดังนี้มิได้แสดงว่านางโรเซ็นสไวด์ เทเลเซียเเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๕ อย่างใดเลยมาตรา ๑๕(๗) ที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้องซึ่งบัญญัติว่า “มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นคนอันธพาลหรือเป็นคนที่น่าจะก่อเหตุร้ายหรืออันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือราชอาณาจักร”โจทก์ก็เพียงแต่ระบุอ้างมาตราในกฎหมาย มิได้บรรยายข้อเท็จจริงในคำฟ้องให้เห็นว่านางโรเซ็นสะไวด์ เทเลเซีย เป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะเช่นนั้น แม้นางโรเซ็นสไวด์ เทเลเซีย จะเป็นผู้ที่มีลักษณะไม่ต้องด้วยหนังสือของกองตรวจคนเข้าเมือง แต่หนังสือของกองตรวจคนเข้าเมืองถึงบริษัทการบินทุกบริษัทขอมิให้รับบุคคลสัญชาติของประเทศที่ไม่มีสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย หรือคนของประเทศค่ายคอมมิวนิสต์และไม่มีสัมพันธ์ทางการฑูตกับประเทศไทยเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเดินทางต่อไปประเทศอื่น เป็นแต่เพียงการขอความร่วมมือ ฉะนั้น การที่นางโรเซ็นสไวด์ เทเลเซีย เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนหนังสือฉบับนี้หรือการที่จำเลยรับบุคคลผู้นี้มากับเครื่องบินของจำเลยมาลงที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯเพื่อบินต่อไปยังประเทศออสเตรเลีย โดยไม่ต้องด้วยหนังสือขอความร่วมมือ จึงหาเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างใดไม่
พิพากษายืน