คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6244/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีอาวุธปืนและลูกระเบิดติดตัวไปในการปล้นทรัพย์และขู่ว่าจะใช้หากเจ้าทรัพย์ขัดขืน โดยไม่ได้ยิงปืนหรือใช้วัตถุระเบิดทำให้เกิดระเบิดขึ้นแต่อย่างใด เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคสี่ และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐, ๓๔๐ ตรี, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๖, ๘, ๓๘, ๕๕, ๗๔, ๗๘ ริบเสื้อเชิ้ต เข็มขัด ลูกระเบิด และถุงผ้าของกลาง ส่วนของกลางอื่นคืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคสี่ ประกอบมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๕๕, ๗๘ ฐานปล้นทรัพย์จำคุก ๒๖ ปี ฐานมีวัตถุระเบิดจำคุก ๑๐ ปี รวมจำคุก ๓๖ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่คงจำคุก ๒๗ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสี่ ประกอบมาตรา ๓๔๐ ตรีฐ ๘๓ จำคุก ๒๖ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๑๗ ปี ๔ เดือน จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา ๕๕, ๗๘ ฐานรับของโจทก์จำคุก ๘ ปี ฐานมีวัตถุระเบิดจำคุก ๑๐ ปี รวมจำคุก ๑๘ ปี ริบเสื้อเชิ้ต เข็มขัด ลูกระเบิด และถุงผ้าของกลาง ส่วนของกลางอื่นที่เหลือให้คืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีปรากฏจากคำฟ้องและข้อนำสืบของโจทก์เองว่าการปล้นครั้งนี้คนต้ายไม่ได้ยิงปืนหรือใช้วัตถุระเบิดทำให้เกิดระเบิดขึ้นแต่อย่างใด คนร้ายเพียงแต่มีอาวุธปืนและลูกระเบิดติดตัวไปและขู่ว่าจะใช้หากเจ้าทรัพย์ขัดขืนเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสี่ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยการกระทำของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธตามมาตรา ๓๔๐ วรรคสองเท่านั้น และเมื่อจำเลยที่ ๑ แต่งกายคล้ายตำรวจและมีวัตถุระเบิด จำเลยที่ ๒ ใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะในการกระทำผิดจำเลยก็ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๐ วรรคสอง กึ่งหนึ่ง ตามมาตรา ๓๔๐ ตรี สำหรับจำเลยที่ ๒ แม้จะไม่ได้ฎีกาขึ้นมา แต่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๓, ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี วางโทษจำคุก ๒๐ ปี รวมกับโทษฐานมีวัตถุระเบิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก ๑๐ ปี เป็นให้จำคุก ๓๐ ปี จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๓๔๐ ตรี วางโทษจำคุก ๒๐ ปี ลดโทษให้จำเลยที่ ๑ หนึ่งในสี่ คงให้จำคุก ๒๒ ปี ๖ เดือน ลดโทษให้จำเลยที่ ๒ หนึ่งในสาม คงให้จำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share