คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4519/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดความผิดและมาตราการลงโทษไว้ ซึ่งประกอบด้วยโทษสถานเบา สถานปานกลาง สถานหนัก และโทษทางวินัย ส่วนกรณีความผิดอื่นที่ไม่ระบุในข้อบังคับ ให้ทำการพิจารณาโดยหัวหน้างานหรือฝ่ายจัดการเพื่อเปรียบเทียบการลงโทษ ลูกจ้างชกต่อยผู้บังคับบัญชาในขณะกำลังเปลี่ยนกะพนักงาน ต่อหน้าพนักงานอื่นจำนวนมาก ด้วยสาเหตุเนื่องมาจากการทำงาน ถือว่าเป็นความผิดกรณีร้ายแรงเปรียบเทียบได้กับโทษทางวินัย คือ เจตนากระทำผิดอาญาต่อนายจ้าง ซึ่งมีโทษให้ออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชย และถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นเป็นกรณีร้ายแรง นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เมาสุราแล้วทำร้ายร่างกายผู้บังคับบัญชาของโจทก์ต่อหน้าพนักงานของจำเลยเป็นจำนวนมาก เป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดความผิดและการลงโทษไว้ประกอบด้วยความผิดสถานเบา สถานปานกลาง สถานหนัก และโทษทางวินัย ส่วนความผิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อบังคับนี้ ให้ทำการพิจารณาโทษโดยหัวหน้างานหรือฝ่ายจัดการ เพื่อเปรียบเทียบการลงโทษ การที่โจทก์ชกต่อยผู้บังคับบัญชาของโจทก์ในขณะที่กำลังเปลี่ยนกะพนักงานต่อหน้าพนักงานของจำเลยจำนวนมาก ด้วยสาเหตุเนื่องจากการทำงาน นอกจากจะเป็นการกระทำผิดอาญาซึ่งมีโทษตามกฎหมายแล้วยังเป็นการกระทำที่ได้ชื่อว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยมีลักษณะเป็นพาลก้าวร้าวไม่ให้เกียรติผู้บังคับบัญชา และเป็นผลมาจากการไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัยของสถานที่ทำงาน ไม่เคารพยำเกรงผู้บังคับบัญชาผู้ซึ่งได้ปฏิบัติการตามหน้าที่อันเป็นการกระด้างกระเดื่องต่อการบังคับบัญชา ย่อมทำให้จำเลยเสียหายด้านการปกครองจึงเป็นความผิดกรณีร้ายแรง เปรียบเทียบได้กับโทษทางวินัย ข้อ ๙.๔.๒ ที่ว่าเจตนากระทำผิดอาญาต่อนายจ้างหรือบริษัท ฯ ซึ่งมีมาตรการการลงโทษกระทำผิดครั้งที่ ๑ ให้ออกโดยไม่จ่ายเงินชดเชย และถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง ตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ (๓) ด้วย จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
พิพากษายืน

Share