คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนมีประเด็นว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัยชอบหรือไม่ โจทก์ถูกย้ายตำแหน่งหน้าที่ชอบหรือไม่ และควรขึ้นค่าจ้างในระหว่างที่โจทก์ถูกสอบสวนหรือไม่ ส่วนคดีหลังมีประเด็นว่าคำสั่งลงโทษโจทก์ทางวินัยชอบหรือไม่ ควรขึ้นเงินเดือนโจทก์ระหว่างถูกสอบสวนหรือไม่ โจทก์ควรได้ค่าจ้างส่วนที่ขาด โบนัส และโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือไม่ ซึ่งประเด็นและเหตุในคดีทั้งสองต่างกัน การพิจารณาคดีทั้งสองมีมูลฐานที่พิจารณาจากคำสั่งต่างฉบับกัน และคำขอท้ายฟ้องแตกต่างกันจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ถูกลงโทษโดยไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ดังนี้ฟ้องของโจทก์เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอันสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ พ.ศ.2522 มาตรา 8 (1) (2) และ (5) แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกลงโทษตัดเงินเดือนโดยไม่มีความผิด ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้วให้บังคับจำเลยขึ้นเงินเดือนตามสิทธิคำฟ้องและคำขอที่เรียกเงินเดือนดังกล่าวไม่ถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างโดยตรง จะปรับใช้อายุความว่าด้วยการเรียกเงินจ้างอันมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (9) ไม่ได้
การที่นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างประการใดได้ก็ต่อเมื่อข้อบังคับหรือระเบียบการทำงานได้กำหนดการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำว่าเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ นายจ้างจะถือเอาการปฏิบัติอันเป็นประเพณีมาลงโทษลูกจ้างมิได้
การให้บำเหน็จความดีความชอบแก่ลูกจ้างเป็นอำนาจของนายจ้าง อำนาจนี้เป็นสิทธิของนายจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานประสิทธิภาพและเป็นการดำเนินกิจการที่นายจ้างจะต้องใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง การพิจารณาขึ้นเงินเดือนจึงเป็นสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้างสิทธิของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ว่าการ โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกองวิทยุบริการ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๒๗ จำเลยมีคำสั่งรวมสี่ฉบับตามคำสั่งที่ ๐๒๒๙๖/๒๕๒๗, ๐๒๒๙๗/๒๕๒๗, ๐๒๒๙๘/๒๕๒๗ และ ๐๒๒๙๙/๒๕๒๗ ลงโทษตัดเงินเดือนโจทก์อ้างว่าโจทก์กระทำผิดวินัยซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และนับตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ โจทก์มิได้รับการขึ้นเงินเดือนหนึ่งชั้นครึ่งของค่าจ้างเดิม และค่าจ้างที่ปรับปรุงใหม่เป็นบัญชี ๓ และไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนตามปกติที่ควรจะได้รับในแต่ละปีงบประมาณจนถึงวันฟ้อง ไม่ได้รับโบนัสตามสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์กับให้บังคับจำเลยร่วมกันออกคำสั่ง ขึ้นเงินเดือนโจทก์ปีละหนึ่งชั้นครึ่งนับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ เป็นต้นมาทุกปีให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าจ้างและโบนัส ดอกเบี้ย เงินเพิ่ม และให้จ่ายค่าจ้าง ดอกเบี้ย และเงินเพิ่มตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๓๑ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สหภาพแรงงานโทรคมนาคมการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีบันทึกถึงจำเลยที่ ๒ ว่าโจทก์มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่หลายประการ จำเลยจึงมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีมูล จำเลยจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่โจทก์ ต่อมาคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีมติเห็นควรลงโทษโจทก์ จำเลยจึงออกคำสั่งลงโทษทางวินัยรวมสี่ฉบับให้ตัดเงินเดือนของโจทก์ การพิจารณาโทษของโจทก์ชอบแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอน จำเลยไม่เคยตกลงขึ้นเงินเดือนให้โจทก์ปีละหนึ่งชั้นครึ่งโจทก์ถูกตั้งกรรมการสอบสวนไม่มีสิทธิได้รับการขึ้นเงินเดือนระหว่างสอบสวนโจทก์ถูกลงโทษทางวินัยจำเลยไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้ จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้ครบแล้วจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ดอกเบี้ย ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๒๘/๒๕๒๖ ของศาลแรงงานกลาง สิทธิเรียกร้องค่าจ้าง โบนัส ขาดอายุความค่าเสียหายที่โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง มิใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน หรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา ๘ (๕) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ และค่าเสียหายส่วนนี้ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ ๐๒๒๙๖/๒๕๒๗ คำสั่งที่ ๐๒๒๙๗/๒๕๒๗ คำสั่งที่ ๐๒๒๙๘/๒๕๒๗ และคำสั่งที่ ๐๒๒๙๙/๒๕๒๗ เอกสารหมายเลข ๕ ถึงเอกสารหมายเลข ๘ ท้ายคำฟ้อง ให้จำเลยออกคำสั่งขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างให้โจทก์สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๒๕ พ.ศ.๒๕๒๖ และ พ.ศ.๒๕๒๗ แต่ละปีปีละหนึ่งชั้นครึ่ง ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและโบนัสที่ยังขาดแต่ละเดือนและปีจนกว่าจะครบถึงวันฟ้องตามส่วนที่จะได้รับ เมื่อขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างย้อนหลังแต่ละปี กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินดังกล่าวทั้งหมด นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๒๘/๒๕๒๖ มีประเด็นว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการโจทก์ทางวินัยตามคำสั่งที่ ๐๒๕๓๗/๒๕๒๔ คำสั่งที่ ๐๒๓๒/๒๕๒๕ คำสั่งที่ ๐๒๑๑๑/๒๕๒๕ และคำสั่งที่ ๐๒๕๐๑/๒๕๒๕ ชอบหรือไม่ มีเหตุอันควรเพิกถอนหรือไม่ การที่โจทก์ถูกย้ายตำแหน่งหน้าที่จากผู้อำนวยการกองวิทยุบริการไปปฏิบัติหน้าที่ประจำการสื่อสารแห่งประเทศไทยชอบหรือไม่ มีเหตุอันควรย้ายโจทก์กลับไปดำรงตำแหน่งหน้าที่เดิมหรือไม่ ควรขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างในระหว่างที่โจทก์ถูกสอบสวนตามคำสั่งทั้งสี่ฉบับหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างส่วนที่ขาดในระหว่างถูกสอบสวนหรือไม่ ส่วนประเด็นในคดีนี้มีว่า คำสั่งที่ ๐๒๒๙๖/๒๕๒๗ คำสั่งที่ ๐๒๒๙๗/๒๕๒๗ คำสั่งที่ ๐๒๒๙๘/๒๕๒๗ และคำสั่งที่ ๐๒๒๙๙/๒๕๒๗ ที่ลงโทษโจทก์ชอบหรือไม่ มีเหตุอันควรเพิกถอนหรือไม่ ควรขึ้นเงินเดือนโจทก์ในระหว่างถูกสอบสวนจนถึงวันเพิกถุอนคำสั่งตลอดมาทุกปีหรือไม่ โจทก์ควรได้ค่าจ้างส่วนที่ขาดและโบนัสหรือไม่ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่การกระทำของจำเลยทั้งสองหรือไม่ “ประเด็น” “เหตุ” ในคดีทั้งสองจึงมิใช่เป็น ” ประเด็น ” และ “เหตุ” อย่างเดียวกัน การพิจารณาคดีทั้งสองมีมูลฐานที่แตกต่างกัน พิจารณาจากคำสั่งที่ต่างฉบับกัน คำขอท้ายฟ้องแตกต่างกัน นอกจากนั้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๔๒๘/๒๕๒๖ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับความเสียหายจากการสอบสวน และเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที ๑๔๒๘/๒๕๒๖ ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในประเด็นและเหตุอีกสถานหนึ่งฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกลงโทษโดยไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหลายประการ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และเป็นการละเมิดต่อโจทก์ฟ้องโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์และเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อันสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน หรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธิพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑)(๒) และ (๕) แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ส่วนข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาเป็นประการใดได้ความตามฟ้องครบถ้วนหรือไม่ จะบังคับตามฟ้องได้ประการใดหรือไม่เป็นกระบวนพิจารณาอีกชั้นหนึ่งในตอนหลัง ซึ่งจำเลยด่วนยกเอาการกระทำที่ถูกต้องของโจทก์ในตอนต้นมาเป็นข้อตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น หาชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาไม่
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ถูกลงโทษตัดเงินเดือนโดยไม่มีความผิดขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษนั้น ๆ เสีย แล้วขอให้ศาลบังคับจำเลยขึ้นเงินเดือนตามสิทธิ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามที่โจทก์จะพึงมีพึงได้ คำฟ้องและคำขอของโจทก์เป็นดังนี้ โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าจ้างส่วนที่ขาด หากคำสั่งที่ลงโทษโจทก์ถูกเพิกถอน โจทก์ควรได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน เงินเดือนที่จะพึงได้รับเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากการเพิกถอนคำสั่งลงโทษและการพิจารณาขึ้นเงินเดือน เงินเดือนที่จะได้รับมิใช่เป็นคำฟ้องและคำขอโดยตรงของโจทก์ จะถือว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างโดยตรงมิได้ อายุความจะปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕ (๙) อันว่าด้วยการเรียกเงินจ้างหรือส่วนหนึ่งของเงินจ้างที่มีอายุความฟ้องร้องสองปีไม่ได้
การที่นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างประการใดได้นั้นก็ต่อเมื่อข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานได้กำหนดการกระทำหรืองดเว้นการกระทำว่าเป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้ จะถือเอาการปฏิบัติอันเป็นประเพณีมาเป็นเครื่องลงโทษลูกจ้างหาชอบไม่ เหตุผลข้อนี้ไม่ชอบด้วยความเป็นธรรมและไม่มีกฎหมายสนับสนุน
การให้บำเหน็จความดีความชอบแก่ลูกจ้างเป็นอำนาจโดยเฉพาะของนายจ้าง อำนาจนี้เป็นสิทธิของนายจ้างเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นการดำเนินกิจการที่นายจ้างจะต้องใช้ความรู้ความสามารถด้วยตนเอง ดังนั้นการพิจารณาขึ้นเงินเดือนจึงเป็นสิทธิของจำเลยผู้เป็นนายจ้างหาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาบังคับให้จำเลยออกคำสั่งขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่โจทก์ปีละหนึ่งชั้นครึ่งไปทีเดียวจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา และตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การตัดเงินเดือน การลดขั้นเงินเดือน ยังมีหลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นเงินเดือนอีกหลายประการที่โจทก์ยังมิได้รับการพิจารณา ซึ่งจำเป็นต้องให้จำเลยพิจารณาก่อนโดยให้พิจารณาเฉพาะเหตุอื่น (นอกจากเหตุกระทำผิดวินัยที่ศาลพิพากษาว่าโจทก์มิได้กระทำผิด ) ว่าโจทก์มีสิทธิหรือควรได้รับการขึ้นเงินเดือนหรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ว่าให้จำเลยออกคำสั่งขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างแก่โจทก์สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๒๕ พ.ศ.๒๕๒๖ และ พ.ศ.๒๕๒๗ และที่ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างและเงินโบนัสที่ยังขาดแต่ละเดือน แต่ละปีจนกว่าจะครบถึงวันฟ้องตามส่วนที่จะได้รับ เมื่อขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างย้อนหลังแต่ละปี พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยพิจารณาการเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๒๕ พ.ศ.๒๕๒๖ และ พ.ศ.๒๕๒๗ ของโจทก์ใหม่ตามนัยที่กล่าวข้างต้น กับให้พิจารณาเงินโบนัส และดอกเบี้ยสำหรับเงินเดือนและค่าจ้าง เงินโบนัสด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง

Share