คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3669/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงินจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 4 ยักยอกเงินของโจทก์ไปได้และทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องได้
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยมูลละเมิดทั่วไป มิใช่มูลละเมิดอันเป็นความผิดมีโทษทางอาญา จึงมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ซึ่งต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนและในกรณ์นิติบุคคลเป็นผู้เสียหายย่อมต้องนับจากวันที่ผู้แทนของนิติบุคคล ได้รู้ดังกล่าว
โจทก์เป็นสุขาภิบาลตูมใต้มีนายอำเภอกุมภวาปีเป็นประธานโดยตำแหน่ง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภอกุมภวาปี สารวัตรใหญ่แจ้งความว่าได้รับคำสั่งให้ดำเนินคดีอาญากับจำเลยทั้งสี่และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เข้ามอบตัวในวันเดียวกัน การแจ้งความดังกล่าวมิใช่การแจ้งความของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ และจำเลยที่ 1 ก็ตกเป็นผู้ต้องหาด้วย จะถือว่ารู้ตัวผู้จะต้องรับผิดรายอื่น ๆ ไม่ได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นผู้แทนโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องรับผิดอันจะนับอายุความในวันดังกล่าว ต้องถือว่าโจทก์รู้ตัวบุคคลผู้ต้องรับผิดเพื่อละเมิดเกี่ยวกับจำเลยในวันที่นายอำเภอกุมภวาปีคนใหม่รับทราบจากรายงานของคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งเกี่ยวกับการทุจริตรายนี้ เมื่อโจทก์ฟังยังไม่เกิน 1 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณของโจทก์จากคลังจังหวัด ๒ ครั้ง เป็นเงินรวม ๒๖๓,๔๔๓.๘๙ บาท โดยจำเลยที่ ๑ มอบฉันทะให้จำเลยที่ ๔ รับเงินโดยลำพัง แล้วจำเลยที่ ๔ ยักยอกเอาเงินดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๔ เป็นการปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายระเบียบแบบแผนของทางราชการ ทำให้โจทก์เสียหาย และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันลงลายมือชื่อในใบเบิกเงิน ขอถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ฝากไว้กับธนาคารเป็นเงิน ๒๙๔,๐๘๗.๗๔ บาท โดยมอบให้จำเลยที่ ๔ รับเงินแทน แล้วจำเลยที่ ๔ เบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว เป็นการปฏิบัติและละเว้นปฏิบัติตามหน้าที่มิชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและส่งเงิน ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ ๑ กับที่ ๔ ร่วมกันชำระเงินจำนวนแรกพร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวนหลังพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การว่า ในการขอเบิกเงินของโจทก์ทั้งสองคราวดังฟ้อง จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเป็นหนังสือตั้งกรรมการไปรับเงินที่ขอเบิกแต่จำเลยที่ ๔ ไม่ได้แจ้งคำสั่งให้กรรมการแต่ละคนทราบ ทั้งยังทำลายคำสั่งของจำเลยที่ ๑ แล้วนำฎีกาไปขอเบิกเงินโดยพลการ จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนของระเบียบราชการแล้ว มิได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ไม่ได้มอบให้จำเลยที่ ๔ รับเงินของโจทก์จากธนาคารแทนแต่จำเลยที่ ๔ ยักยอกใบถอนเงินที่มีลายมือชื่อจำเลยทั้งสามลงไว้ไปโดยทุจริตแล้วนำไปขอถอนเงินโดยไม่มีอำนาจ จำเลยทั้งสามลงชื่อเป็นผู้ขอเบิกเงินในใบถอนดังกล่าวตามระเบียบเพื่อนำเงินเข้าฝากในบัญชีโจทก์ที่ธนาคารแห่งใหม่ จำเลยที่ ๔ มีหน้าที่ดำเนินการให้จำเลยที่ ๑ แต่งตั้งกรรมการไปรับส่งเงินตามระเบียบ แต่หากระทำไม่กลับนำใบขอเบิกเงินนั้นไปเบิกเงินดังกล่าวเข้าบัญชีส่วนตัว จำเลยทั้สามจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๔ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๔ ชดใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่จะวินิจฉัยในชั้นนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ว่า ฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดหรือไม่ และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าคดีโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ นั้นเป็นคดีที่กล่าวหาว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ไม่ควบคุมดูแลการรับเงินและการส่งเงิน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๔ ยักยอกเงินของโจทก์ไปได้ และทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลละเมิดและเรียกค่าสินไหมทดแทน โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องได้
ส่วนในประเด็นที่ว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์กล่างอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ จงใจไม่ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบแบบแผน จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๔ ยักยอกเงินของโจทก์ไปเป็นการฟ้องโดยมูลละเมิดทั่ว ๆ มิใช่มูลละเมิดอันเป็นความผิดมีโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคสอง จึงมีอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคแรก ซึ่งต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน และในกรณีนิติบุคคลเป็นผู้เสียหายย่อมต้องนับจากวันที่ผู้แทนของนิติบุคคลได้รู้ดังกล่าว คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นสุขาภิบาลตูมใต้ มีนายอำเภอกุมภวาปี เป็นประธานโดยตำแหน่ง ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ เป็นนายอำเภอกุมภวาปี จำเลยที่ ๒ เป็นปลัดอำเภอกุมภวาปีและเป็นปลัดสุขาภิบาลโจทก์ จำเลยที่ ๓ เป็นปลัดอำเภอกุมภวาปีและหัวหน้าส่วนการคลังของโจทก์ จำเลยที่ ๔ เป็นเสมียนตราอำเภอกุมภวาปี และเป็นสมุห์บัญชีของสุขาภิบาลโจทก์ ปรากฏจากคำเบิกความของนายสันติ มณีกาญจน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีเบิกความว่า เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม ๒๕๒๕ มีการตรวจพบว่าเงินเกี่ยวกับโครงการ กสธ. ของอำเภอกุมภวาปี เงินสุขาภิบาลและเงินของฝ่ายปกครองหายไป เพียเท่านี้ยังมิใช่เป็นการที่ผู้แทนของสุขาภิบาลโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงรับผิด จึงยังไม่เริ่มนับอายุความส่วนที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๙ มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสี่นั้น ก็ปรากฏจากเอกสารหมาย ล.๕ รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าในวันดังกล่าวระบุว่า พันตำรวจโทสมพงษ์ ประทุมเพ็ง สารวัตรใหญ่แจ้งว่า ได้รับคำสั่งจากนายสมภาพ ศรีวรธาน ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ถึงผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่ข้อหาร่วมกันเบียดบังทรัพย์เป็นของตนหรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้น เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และข้อหาอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ และต่อมาในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้เข้ามอบตัวให้การปฏิเสธ เช่นนี้จะเห็นว่าการแจ้งความดังกล่าวมิใช่การแจ้งความของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้แทนของโจทก์ โดยเฉพาะจำเลยที่ ๑ ก็เป็นผู้ต้องหาอยู่ด้วย จะถือว่ารู้ตัวผู้จะต้องรับผิดรายอื่น ๆ คือจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ก็ไม่ได้ฉะนั้นจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ ผู้แทนของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะต้องรับผิดอันจะเริ่มนับอายุความ ข้อเท็จจริงคงปรากฏต่อมาจากคำเบิกความของนายสันติ มณีกาญจน์ พยานโจทก์ว่าเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๕ พยานได้รับคำสั่งให้เป็นประธานกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดขอบทางแพ่งเกี่ยวกับการทุจริตรายนี้ และคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดอุดรธานี จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๔ ต้องร่วมกันรับผิด ส่วนเงินที่ถอนจากธนาคารจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันทั้งหมด ความเห็นนี้ปรากฏจากเอกสาร จ.๔ ว่า ได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๕ และนายวีระ เสรีรัตน์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นนายอำเภอกุมภวาปีคนใหม่ที่ดำรงตำแหน่งแทนจำเลยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๕ เบิกความว่า พยานรับทราบเรื่องนี้เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๕ เช่นนี้ จึงถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงตัวบุคคลผู้ต้องรับผิดเพื่อการละเมิดเกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในวันที่นายวีระ เสรีรัตน์ ซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์รับทราบจากรายงานของคณะกรรมการสอบสวน โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๖ ยังไม่เกิน ๑ ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๑ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๔ ชดใช้เงินแก่โจทก์รวม ๕๕๗,๕๓๑.๖๓ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๑๙๓,๔๕๑ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๑๙,๙๔๙.๖๓ บาทและดอกเบี้ยของต้นเงิน ๖๙,๙๙๒.๘๙ บาท นับแต่วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน ๗,๐๗๒.๑๙ บาท ดอกเบี้ยของเงินต้นเงิน ๒๙๔,๐๘๗.๗๔ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน ๒๘,๖๑๒.๒๘ บาท ให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันรับผิดร่วมกับจำเลยอื่นเป็นเงิน ๕๘,๘๑๗.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๔ จนกว่าจำชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share