แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ตายถืออาวุธปืนเป็นฝ่ายก่อเหตุเข้ามาต่อว่าและตบตีภริยาจำเลย เมื่อจำเลยถือปืนวิ่งออกมาเห็นภริยาจำเลยมีเลือดเปื้อนเต็มตัว จำเลยย่อมเข้าใจว่าผู้ตายจะยิงภริยาจำเลย อันเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันชีวิตภริยาจำเลยได้ แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายติดต่อกันถึง 6 นัด ในขณะที่อาวุธปืนในมือของผู้ตายหล่น ลงไปที่พื้นแล้วหากจำเลยยิงผู้ตายเพียงนัดเดียวก็น่าจะหยุดยั้งผู้ตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69
คำให้การชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์มีเหตุผลสอดคล้องต้องกัน และได้ให้การหลังเกิดเหตุไม่นาน ไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เชื่อว่าได้ให้การไปตามความสัตย์จริงตามที่ตนได้รู้เห็นมาโดยไม่มีมูลเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด การที่ประจักษ์พยานโจทก์มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลปฏิเสธว่าไม่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุโดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเพราะเหตุใดจึงเบิกความในชั้นพิจารณาไม่ตรงกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน เชื่อว่าเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นผิด คำให้การพยานชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังประกอบเป็นข้อพิจารณาของศาล ศาลเชื่อคำให้การชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นตลอดพฤติการณ์แห่งคดี พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ จำคุก ๑๕ ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คำให้การชั้นสอบสวนของนายสมบูรณ์และนางสาวดาวเรืองประจักษ์พยานโจทก์มีเหตุผลสอดคล้องต้องกันและได้ให้การภายหลังเกิดเหตุไม่นาน จึงไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทั้งไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสองเป็นญาติเกี่ยวข้องกับทางฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายเชื่อได้ว่าได้ให้การไปตามความสัตย์จริงตามที่ตนได้รู้เห็นมา โดยไม่มีมูลเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงได้บันทึกและให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน การที่ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองมาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลปฏิเสธว่าไม่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ โดยพยานไม่ได้ให้เหตุผลว่า เพราะเหตุใดข้อเท็จจริงที่ตนเบิกความในชั้นพิจารณาจึงไม่ตรงกับที่เคยให้การไว้กับชั้นสอบสวน เห็นได้ชัดว่าเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นผิด คำให้การพยานชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังประกอบเป็นข้อพิจารณาของศาลประการใด ศาลฎีกาเชื่อว่าคำให้การชั้นสอบสวนของนายสมบูรณ์และนางสาวดาวเรืองเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวในชั้นพิจารณา นอกจากนี้ในชั้นสอบสวนนายพิสูจน์ ศรีสวัสดิ์ บุตรของจำเลยได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นานว่า เข้าใจว่าจำเลยเป็นคนยิงผู้ตาย แต่มาในชั้นพิจารณานายพิสูจน์เบิกความว่านางบุญช่วยมารดาเป็นผู้ที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย เห็นได้ชัดว่าพยานโจทก์ปากนี้เบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นบิดา เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดีเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง คดีฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายจริง พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ แต่ตามข้อเท็จจริงดังที่ได้วินิจฉัยมาปรากฏว่า ผู้ตายเมาสุราพร้อมกับพกพาอาวุธปืนมาต่อว่าและตบตีทำร้ายนางบุญช่วยซึ่งเป็นภริยาของจำเลย ซึ่งเหตุการณ์ในตอนนี้ก็ได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กชายสุภาพ เฉยดิษฐ์ ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายว่า ผู้ตายถืออาวุธปืนเข้าไปตบตีนางบุญช่วย ผู้ตายจ้องปืนไปทางนางบุญช่วยขณะที่กอดปล้ำกันอยู่นั้นปืนของผู้ตายได้ลั่นขึ้น ๑ นัด นางบญช่วยได้ร้องเรียกให้จำเลยช่วย จำเลยถือปืนวิ่งออกมาและอาวุธปืนยิงผู้ตาย ๔ นัด ติดต่อกัน ในที่เกิดเหตุพบอาวุธปืนของผู้ตายตกอยู่ ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุเข้ามาด่าว่าและตบตีภริยาจำเลย เมื่อจำเลยถือปืนวิ่งออกมาเห็นภริยาจำเลยมีเลือดเปื้อนเต็มตัว จำเลยย่อมเข้าใจว่าผู้ตายจะยิงภริยาของตน อันเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยจึงมีสิทธิที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเพื่อป้องกันชีวิตภริยาจำเลยได้ แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายติดต่อกันถึง ๖ นัด ในขณะที่อาวุธปืนในมือของผู้ตายได้หล่นลงไปที่พื้นแล้วหากจำเลยยิงผู้ตายเพียงนัดเดียวก็น่าจะหยุดยั้งผู้ตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงยังคงมีความผิดตามกฎหมายอยู่ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ บัญญัติให้ศาลลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบกับมาตรา ๖๙ ให้ลงโทษจำคุก ๒ ปี และให้ริบของกลาง