คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจัดทำและพิมพ์เอกสารที่เรียกว่าจดหมายเปิดผนึกโดยมีข้อความตอนแรกว่า ‘สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ… ย้ายผู้ว่าการประปานครหลวงรองผู้ว่าการบริการและรองผู้ว่าการวิชาการ(ซึ่งหมายถึงโจทก์ทั้งสาม) ไปประจำกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากบริหารงานการประปานครหลวงผิดพลาดล้มเหลวและพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางไม่สู้ดี ไม่สามารถขจัดการสูญเสียน้ำประปา 48เปอร์เซ็นต์ได้’ กับตอนที่สองว่า ‘การย้ายฝ่ายบริหารชุดดำเนินงานผิดพลาดไปประจำกระทรวงมหาดไทยโดยมิได้ปลดออกจากตำแหน่ง ทำให้พรรคพวกเส้นสาย บริวารเก่าๆ ยังมีความคิดว่าเจ้านายตัวเองจะต้องกลับมาบริหารงานในตำแหน่งเดิมอีก และได้มีการวิ่งเต้นกลุ่มการเมืองเพื่อขอกลับมามีอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์’ ข้อความตอนแรก จำเลยเพียงแต่เท้าความถึงเรื่องที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ย้ายโจทก์ทั้งสามไปประจำกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากโจทก์บริหารงานผิดพลาดล้มเหลว ส่วนที่ว่าพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สู้ดีอาจมีความหมายว่าหมายถึงโจทก์ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามรับพนักงานใหม่ตามที่จำเลยนำสืบ จึงยังไม่พอฟังว่าจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสามทุจริต สำหรับข้อความตอนที่สอง จำเลยมิได้กล่าวยืนยันว่าโจทก์ทั้งสามเป็นผู้วิ่งเต้นเพื่อกลับมาแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสาม.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 320, 328 คำสั้งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7, 8
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงมาว่าเดิมโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ว่าการการประปานครหลวง ส่วนโจทก์ที่ 2ที่ 3 เป็นรองผู้ว่าการบริการและวิชาการตามลำดับ จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงาน มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์ของการประปานครหลวงและประชาชน จำเลยที่ 2เป็นประธานของสหภาพแรงงานจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม2525 กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงมหาดไทยและตั้งผู้รักษาการแทน ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 19 เมษายน 2525 ถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2525 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจัดทำและพิมพ์เอกสารเรียกว่าจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 10 มิถุนายน 2525 โดยจำเลยที่ 2 ลงชื่อและประทับตราจำเลยที่ 1 มีข้อความในวรรคแรกกล่าวถึงการทำงานของโจทก์ว่าบริหารงานการประปานครหลวงล้มเหลว และมีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สู้ดี และวรรคที่สองมีข้อความว่าโจทก์วิ่งเต้นกลุมการเมืองเพื่อกลับมามีอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์จากหน้าที่การงานโดยไม่ชอบอีกนอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังให้สัมภาษณ์นักหนังสือพิมพ์เป็นการเผยแพร่ข้อความในเอกสารดังกล่าวด้วย
พิเคราะห์แล้วมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการแรกว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสามดังฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นการหมิ่นประมาทตามฟ้องก็คือข้อความในเอกสารหมาย จ.1 อันมีอยู่ 2 ตอน ตอนแรกในเอกสารหมาย จ.1 วรรคแรกมีว่า ‘สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ…ย้ายผู้ว่าการประปานครหลวงรองผู้ว่าการบริการและรองผู้ว่าการวิชาการ ไปประจำกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากบริหารงานการประปานครหลวงผิดพลาดล้มเหลว และพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สู้ดี ไม่สามารถขจัดการสูญเสียน้ำประปา 48 เปอร์เซ็นต์ ได้’ กับตอนที่สองซึ่งเป็นวรรคสองของเอกสารหมาย จ.1 มีว่า ‘การย้ายฝ่ายบริหารชุดดำเนินงานผิดพลาดไปประจำกระทรวงมหาดไทยโดยมิได้ปลดออกจากตำแหน่ง ทำให้พรรคพวก เส้นสาย บริวารเก่าๆ ยังมีความคิดว่าเจ้านายตัวเองจะต้องกลับมาบริหารงานในตำแหน่งเดิมอีก และได้มีการวิ่งเต้นกลุ่มการเมืองเพื่อขอกลับมามีอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์’ซึ่งโจทก์ทั้งสามฎีกาว่าข้อความทั้ง 2 ตอนนี้เป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม อันน่าจะทำให้โจทก์ทั้งสามเสียชื่อเสียถูกดูหมิ่น หรือถูกเกบียดชัง ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานหมิ่นประมาท นั้น ได้พิจารณาข้อความที่กล่าวข้างต้นแล้ว เห็นว่า ข้อความตอนแรกจำเลยทั้งสองเพียงแต่กล่าวเท้าความถึงเรื่องที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ย้ายโจทก์ทั้งสามไปประจำกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากโจทก์ทั้งสามบริหารงานผิดพลาดล้มเหลว ส่วนที่ว่ามีพฤติการณ์ส่อไปในทางไม่สู้ดีนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบว่าหมายถึงโจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามรับพนักงานใหม่ โดยโจทก์ทั้งสามก็ยังฝ่าฝืนจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอีก และบกพร่องการงานในหน้าที่หลายอย่างเสียหายแก่ทางราชการอย่างมาก จนต่อมาโจทก์ที่ 2ที่ 3 ถูกให้ออกจากงานฐานบกพร่องในหน้าที่ตามคำสั่งการประปานครหลวงตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.2 ตามลำดับ ดังนี้ข้อความในเอกสารหมาย จ.1 ตอนแรกอาจมีความหมายดังจำเลยนำสืบได้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสามทุจริตดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกา ส่วนในตอนที่สองที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่าจำเลยทั้งสองหาว่าโจทก์ทั้งสามวิ่งเต้นกลุ่มนักการเมืองเพื่อขอกลับมามีอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองอีก ทำให้โจทก์ทั้งสามเสียหายนั้น เห็นว่า เมื่ออ่านข้อความตั้งแต่เริ่มต้นของตอนที่สองนี้ที่ว่า การที่ย้ายโจทก์ทั้งสามไปประจำกระทรวงมหาดไทยโดยมิได้ปลดออกจากตำแหน่ง ทำให้พรรคพวก เส้นสาย บริวาร เก่าๆ ยังมีความคิดว่าเจ้านายของตัวเองจะต้องกลับมาบริหารงานในตำแหน่งเดิมอีกและได้มีการวิ่งเต้นกลุ่มนักการเมือง…จะเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองมิได้กล่าวยืนยันเลยว่าโจทก์ทั้งสามวิ่งเต้นนักการเมืองเพื่อกลับมามีอำนาจอีกและจะแปลว่าหมายถึงโจทก์ทั้งสามเป็นผู้วิ่งเต้นก็ไม่ได้ แต่ตรงกันข้าม ข้อความก่อนหน้านั้นทำให้เห็นว่า ผู้ที่วิ่งเต้นนักการเมืองนั้นก็คือพรรคพวกหรือบริวารเก่าๆ ของโจทก์ทั้งสามนั่นเอง โดยหวังจะให้โจทก์ทั้งสามกลับมามีอำนาจในการประปานครหลวงอีก เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งก็มิได้กล่าวให้ชัดว่าใครเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์นั้นอาจหมายถึงพรรคพวกของโจทก์ทั้งสามก็ได้ และอาจเป็นผลประโยชน์โดยชอบก็ได้ มิได้หมายความว่าโจทก์ทั้งสามวิ่งเต้นเพื่อกลับมาแสวงหาประโยชน์อันมิชอบดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกาเสมอไปนอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังนำสืบด้วยว่าสมาชิกสหภาพแรงงานนั้นมีบางคนเป็นสมาชิกพรรคประชากรไทยและพรรคการเมืองอื่น จำเลยเห็นว่าข่าวที่ได้รับมาว่ามีการวิ่งเต้นนักการเมืองนั้นมีมูล ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่พอฟังว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสามต่อบุคคลที่สาม
สำหรับฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการที่สองที่ว่า การจัดพิมพ์และเผยแพร่ข้อความหมิ่นประมาทตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่เป็นการเสนอข้อความโดยสุจริต เพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนและประชาชนตามคลองธรรมและศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นภายหลังจากที่จำเลยทั้งสองได้จัดพิมพ์เอกสารหมาย จ.1 ออกเผยแพร่แล้วมาวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบนั้น เมื่อคดีฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่พอฟังว่าเป็นการใส่ความโจทก์ทั้งสามต่อบุคคลที่สามเสียแล้วปัญหาตามข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสามย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คดีของโจทก์ทั้งสามแต่ประการใด จึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้…’
พิพากษายืน.

Share