แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญาจำนองมีข้อความระบุว่าให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจำนวน 300,000 บาท แม้ต่อมาสัญญาจำนองจะถูกเพิกถอนก็ไม่กระทบกระเทือนถึงข้อความที่ระบุไว้เกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ถือได้ว่าการกู้ยืมมีหลักฐานเป็นหนังสือ เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 92
ย่อยาว
เดิมเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา ๙๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นต่อศาลเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นเห็นชอบด้วยกับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับโดยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่ากรณีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้สั่งเพิกถอนการจำนองรายนี้ตามมาตรา ๑๑๕ เมื่อศาลสั่งเพิกถอนแล้ว เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา ๙๒ จึงพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายต่อไป เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการร้องขอต่อศาล ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจำนอง ซึ่งในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองรายนี้ เจ้าหนี้จึงได้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่เป็นคดีนี้เป็นค่ากู้ยืมเงินจำนวน ๔๖๒,๐๐๐ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองอย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นต่อศาลเห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๗ (๑)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นควรกลับความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นให้เจ้าหนี้รายนี้ได้รับชำระหนี้ตามที่ปรากฏในสัญญาจำนองจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่าขณะที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ที่ ๒ กู้ยืมเงิน เจ้าหนี้ทราบหรือไม่ว่าลูกหนี้ที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว เห็นว่า แม้เจ้าหนี้จะเป็นเพื่อนนักเรียนกับนางสาวสมถวิลน้องของลูกหนี้ที่ ๒ และนางสาวสมถวิลเป็นคนติดต่อให้ลูกหนี้ที่ ๒ กู้ยืมเงินเจ้าหนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ทุกครั้งลูกหนี้ที่ ๒ ก็ชำระหนี้ให้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ลูกหนี้ที่ ๒ และนางสาวสมถวิลสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษหรือไม่ และมีการติดต่อสัมพันธ์กันในทางใดบ้างหรือไม่ การให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันย่อมจะได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องสนิทสนมกันมากเป็นพิเศษ หรือต้องรู้ฐานะทางการเงินของลูกหนี้ที่ ๒ โดยละเอียดตามปกติผู้ยืมย่อมปกปิดจำนวนหนี้และเจ้าหนี้รายอื่นๆ ต่อบุคคลที่ประสงค์จะขอกู้ยืมเงิน โดยเฉพาะหนี้รายนี้ลูกหนี้ที่ ๒ ขอกู้ยืมเงิน มีที่ดินและบ้านจำนองเป็นประกันย่อมเป็นหลักประกันอันเพียงพอแก่เจ้าหนี้ ไม่จำเป็นที่เจ้าหนี้จะต้องรู้ฐานะของลูกหนี้ที่ ๒ การที่ปรากฏในเวลาต่อมาว่า ลูกหนี้ที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว และเป็นหนี้ตามคำพิพากษาด้วย จนศาลได้ออกคำบังคับก่อนมีการกู้ยืมเงินรายนี้ก็ตาม ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ที่ ๒ บุคคลภายนอกที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องด้วยย่อมทราบไม่ได้ เห็นว่า ไม่มีพฤติการณ์ใดที่จะแสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้ที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว จะอาศัยเหตุแต่เพียงว่าเจ้าหนี้เป็นเพื่อนนักเรียนกับน้องของลูกหนี้ที่ ๒ และเจ้าหนี้เคยให้กู้ยืมเงินมาแล้วหลายครั้ง ต้องสันนิษฐานว่า เจ้าหนี้ทราบฐานะการเงินของลูกหนี้ที่ ๒ ดีนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖ บัญญัติว่า ‘ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต’ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า เจ้าหนี้ได้ทราบว่าลูกหนี้ที่ ๒ มีหนี้สินล้นพ้นตัว
ปัญหาว่าการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกู้ยืมเงินรายนี้มีที่ดินและบ้านจำนองเป็นประกัน ตามสัญญาจำนองมีข้อความระบุว่า ให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท และตามภาพถ่ายสัญญาจำนองดังกล่าวปรากฏว่า ได้มีการปิดอากรแสตมป์แล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่ทักท้วงว่าเป็นภาพถ่ายที่ไม่ถูกต้อง แม้สัญญาจำนองจะถูกเพิกถอนในเวลาต่อมาก็ไม่กระทบกระเทือนถึงข้อความที่ระบุไว้เกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจึงถือได้ว่าสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๒ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.