คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1417/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในการจำแนกประเภทสินค้าตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 ต้องเป็นไปตามความหมายในประเภทของสินค้านั้น หรือตามความหมายของหมายเหตุหรือตอนที่เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ จะตีความนอกเหนือไปจากความหมายที่ระบุไว้ในพิกัดหรือหมายเหตุในหมวดหรือตอนที่เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ ไม่ได้
พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.05 มีความหมายว่า แผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่ทำเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยกรรมวิธียืดหรือเป่าเพียง 2 วิธี และยังมิได้มีการตกแต่ง
พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.06 มีความหมายว่า แผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่ทำเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยกรรมวิธี หล่อ รีด ยืดหรือเป่าและขัดผิวให้เรียบแล้วไม่ว่าจะขัดผิวโดยกรรมวิธีอย่างไร และกระจกนั้นจะมีสภาพใสเป็นมันเงาหรือไม่อย่างหนึ่ง และแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยกรรมวิธี หล่อ รีด ยืดหรือเป่า และทำให้ใส่แล้วไม่ว่าจะทำโดยกรรมวิธีอย่างไรและกระทำในขั้นตอนใดของการผลิตอีกอย่างหนึ่ง เพราะตามพิกัดดังกล่าวระหว่างข้อความว่าขัดผิวกับทำให้ใสแล้วใช้คำว่า “หรือ”
กระจกชีทที่โจทก์นำเข้ามามีกรรมวิธีในการผลิตโดยดึงน้ำแก้วที่หลอมเหลวในเบ้าหลอมขึ้นเป็นแผ่นกระจกในแนวตั้ง แผ่นกระจกที่ผ่านออกมามีลักษณะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพของผิวกระจกเรียบและใสทั้งสองด้าน เนื่องจากน้ำแก้วที่หลอมเหลวไหลผ่านไปบนผิวโลหะหลอมเหลวในอ่างโลหะหลอมเหลวที่มีการควบคุมอุณหภูมิจนแผ่นกระจกเย็นลง สินค้าดังกล่าวจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 70.06

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์สั่งซื้อสินค้าประเภทกระจก เกรย์ชีท กลาส (Sheet Glass สีเทา) เข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรและสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าว่าเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ ซึ่งจะได้รับการลดหย่อนภาษีศุลกากรพิเศษ คือลด ๒๐% เพราะเป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศในภาคีอาเซียน แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งว่าสินค้าของโจทก์จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ ซึ่งไม่ได้รับลดหย่อนอากรแต่อย่างใด โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์นำสินค้าดังกล่าวออกมา โจทก์จึงต้องเสียภาษีอากรในพิกัดอัตราศุลกากรที่ ๗๐.๐๕ ตามที่จำเลยทั้งสองประเมินซึ่งไม่ถูกต้องเพราะสินค้าประเภทกระจกที่โจทก์นำเข้าดังกล่าวเป็นสินค้าในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านและขอสงวนสิทธิที่จะขอคืนภาษีที่จำเลยทั้งสองประเมินไม่ถูกต้องและเกินไปดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองแจ้งโจทก์ว่าราคาสินค้าดังกล่าวที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มรวมเป็นเงิน ๑๖,๙๘๙.๑๖ บาท ซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการประเมินที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง จำเลยต้องคืนภาษีที่เรียกเกินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยประเมินให้โจทก์ชำระถึงวันฟ้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีจากพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ ไปเป็นพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน ๙๘,๔๑๔.๖๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงิน ๙๓,๘๕๗.๔๘ บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเสีย
จำเลยให้การว่า สินค้ากระจกแผ่นที่โจทก์นำเข้าในราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวนั้น โจทก์ได้สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเพื่อชำระภาษีศุลกากรว่าเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ ด้วยความสมัครใจของโจทก์ กระจกที่โจทก์นำเข้าไม่ได้ผ่านการขัดผิวหรือทำให้ใสหลังจากการผลิตเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้ว แต่เป็นการทำให้ใสในขบวนการที่จะผลิตน้ำแก้วซึ่งหลอมละลายก่อนที่จะทำให้กลายเป็นแผ่นแข็งรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอันจะถือได้ว่าเป็นการผลิตออกมาเป็นแผ่นที่สำเร็จรูปแล้ว และยังมิได้มีการตกแต่งอย่างใด จึงเป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลให้โจทก์เสียเพิ่มเติมนั้นชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริงแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่ากระจกที่โจทก์นำเข้ามาจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ และราคากระจกที่จำเลยใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีอากรชอบแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีของจำเลยทั้งสองจากพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ ไปเป็นพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน ๙๓,๘๕๗.๔๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๐.๖๒๕ ต่อเดือน นับแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขอของโจทก์อื่นๆ นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้บัญญัติไว้ในภาค ๑ ว่า “การตีความในพิกัดอัตราศุลกากรนี้ให้ถือหลักดังต่อไปนี้…..วัตถุประสงค์ของพิกัดอัตราศุลกากรนี้ การจำแนกประเภทสินค้าให้เป็นไปตามความหมายในประเภทนั้น ๆ หรือตามความหมายของหมายเหตุในหมวดหรือตอนที่เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ โดยถือหลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อไปนี้ เว้นแต่ประเภทหรือหมายเหตุนั้นจะมีข้อความกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น…..” จะเห็นได้ว่าการตีความพิกัดอัตราศุลกากรในการจำแนกประเภทสินค้าต้องเป็นไปตามความในประเภทของสินค้านั้นหรือตามความหมายของเหตุในหมวดหรือตอนที่เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ จะตีความนอกเหนือไปจากความหมายที่ระบุไว้ในพิกัดหรือหมายเหตุในหมวดหรือตอนที่เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ ไม่ได้ สินค้าที่โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อเสียภาษีอากร เป็นสินค้าประเภทกระจกหรือแผ่นแก้วซึ่งจัดอยู่ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรหมวด ๑๓ ตอนที่ ๗๐ ว่าด้วยแก้วและเครื่องแก้ว ซึ่งพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ ได้ระบุไว้ว่า “แก้วที่ยืดหรือเป่า (รวมทั้งแก้วสี) ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแต่ยังมิได้ตกแต่ง” ส่วนพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ ระบุว่า “แก้วหล่อ รีด ยืดหรือเป่า (รวมทั้งแก้วสีหรือแผ่นแก้วที่มีลวดตาข่ายยืด) ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขัดผิวหรือทำให้ใสแล้วแต่ต้องมิได้ทำมากไปกว่าที่กล่าว” เห็นได้ชัดว่าพิกัดอัตราศุลกากรทั้งสองประเภทดังกล่าวให้พิเคราะห์ถึงกรรมวิธีการผลิตในหลักใหญ่ว่าผลิตโดยวิธีใด ลักษณะของแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วและสภาพของแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วเป็นอย่างไรเท่านั้นตามข้อความในพิกัดอัตราศุลกากรทั้งสองประเภทก็ดี หมายเหตุของหมวด ๑๓ และตอนที่ ๗๐ ก็ดี มิได้ระบุไว้ว่าให้พิเคราะห์ถึงกรรมวิธีการผลิตกระจกหรือแผ่นแก้วแต่ละวิธีมีขั้นตอนการผลิตอย่างไร การขัดผิวต้องขัดด้วยเครื่องกล และจะต้องขัดผิวหลังจากมีสภาพเป็นแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่แข็งตัวดีแล้วหรือไม่ ขัดผิวให้เรียบมากน้อยเท่าใด และการทำให้แผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วให้ใสก็มิได้ระบุว่าต้องกระทำโดยวิธีใดหรือต้องทำให้ใสหลังจากขัดผิวแล้วแต่อย่างไร และทำให้ใสขนาดไหนดังนั้น พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ จึงมีความหมายว่า แผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยกรรมวิธียืดหรือเป่าเพียง ๒ วิธีเท่านั้น และยังมิได้มีการตกแต่ง ส่วนพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ มีความหมายว่าแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยกรรมวิธีหล่อ รีด ยืดหรือเป่าและขัดผิวให้เรียบแล้วอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะขัดผิวโดยกรรมวิธีอย่างไร กระจกนั้นจะมีสภาพใสเป็นมันเงาหรือไม่ ก็เรียกว่าได้มีการตกแต่งแล้ว และจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ ไม่จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๕ หรือแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่ทำเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโดยกรรมวิธีหล่อ รีด ยืดหรือเป่าและทำให้ใสแล้วอีกอย่างหนึ่ง การทำให้ใสไม่ว่าจะทำโดยกรรมวิธีอย่างไร และกระทำในขั้นตอนใดของการผลิตกระจกหรือแผ่นแก้ว ถ้าแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วที่ผลิตออกมาด้วยกรรมวิธีหนึ่งกรรมวิธีใดใน ๔ วิธีดังกล่าว เมื่อแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วอยู่ในลักษณะแผ่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและอยู่ในสภาพใสแล้ว แผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วนั้นก็จัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ เช่นเดียวกัน มิได้มีความหมายว่าจะต้องผ่านกรรมวิธีขัดผิดด้วยเครื่องกลจนแผ่นกระจกหรือแผ่นแก้วใสจึงจะจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภท ๗๐.๐๖ ทั้งนี้เพราะตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ ระหว่างข้อความว่าขัดผิวกับทำให้ใสแล้ว พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรใช้คำว่า “หรือ” ถ้าพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรมีเจตนารมณ์ดังกล่าว ก็น่าจะใช้ข้อความว่าขัดผิวและทำให้ใสแล้ว หรือใช้ข้อความว่า ขัดผิวจนทำให้ใส…..ข้อเท็จจริงได้ความว่ากระจกที่โจทก์นำเข้ามา กรรมวิธีในการผลิตคือ ดึงน้ำแก้วที่หลอมเหลวในเบ้าหลอมขึ้นเป็นแผ่นกระจกในแนวตั้ง แผ่นกระจกที่ผ่านออกมามีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สภาพของผิวกระจกเรียบและเนื้อกระจกใสทั้งสองด้าน กรรมวิธีในการผลิตกระจกดังกล่าวเข้าลักษณะดึงหรือยืดแก้วออกมาเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและทำให้ใสแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากน้ำแก้วที่หลอมเหลวไหลผ่านไปบนผิวโลหะหลอมเหลวในอ่างโลหะหลอมเหลวที่มีการควบคุมอุณหภูมิจนแผ่นกระจกเย็นลง ในทำนองเดียวกันกับการผลิตกระจกโฟลท…..พยานจำเลยทำงานอยู่ที่กองวิเคราะห์ของจำเลยที่ ๑ ได้เบิกความยืนยันว่ากระจกโฟลทจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ นอกจากนี้หลังจากโจทก์นำกระจกพิพาทรายนี้เข้ามาแล้ว ต่อมาบริษัทลืมเกียงเส็งกากี จำกัด ได้นำเข้าสินค้ากระจกประเภทและชนิดเดียวกันกับที่โจทก์นำเข้ามาในคดีนี้โดยระบุในใบขนสินค้าขาเข้าเพื่อเสียภาษีอากรว่า สินค้าอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากร ๗๐.๐๖ เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ก็ตรวจปล่อยสินค้านั้นให้บริษัทลิมเกียงเส็งกากี จำกัด รับไปโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ดังนั้น สินค้าประเภทกระจกที่โจทก์นำเข้ามาจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ ๗๐.๐๖ ฯลฯ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน ๙๓,๘๕๗.๔๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มของจำเลยทั้งสามตามหนังสือที่ กค. ๐๖๑๓ (ก)/๑-๒๙๑ เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share