คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1393/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ส. ยอมรับผิดไม่เกิน 50,000 บาทไว้ต่อโจทก์ ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันจะเป็นอันระงับลงต่อเมื่อโจทก์ได้หักค่าจ้างของ ส. ไว้จนครบมามอบให้โจทก์ยึดถือไว้แทน การที่โจทก์จ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้แก่พนักงานของโจทก์รวมทั้ง ส. เป็นรายเดือนตามอัตราและวิธีการที่โจทก์กำหนดไว้ และพนักงานยังมีสิทธิจะได้รับเมื่อทำงานครบ 5 ปีและ 10 ปีแล้วนั้น เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้ทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียว ถือไม่ได้ว่าโจทก์หักค่าจ้างของ ส. ไว้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว และสัญญาค้ำประกันก็มิได้บังคับว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างของส. เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์หักค่าจ้างของ ส. ไว้จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายสุชาติ รัตนสิน ไว้กับโจทก์ว่า ถ้านายสุชาติซึ่งเข้าเป็นพนักงานของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหายจำเลยจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อมานายสุชาติได้กระทำผิดทำให้โจทก์เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษและให้นายสุชาติใช้เงินแก่โจทก์ ๕๔๙,๔๘๙.๖๗ บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยนำเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทไปชำระ แต่จำเลยไม่ชำระขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๕๒,๑๘๗ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันจริง แต่ตามระเบียบของโจทก์ โจทก์จะต้องหักเงินเดือนนายสุชาติไว้เป็นเงินสะสม และโจทก์ก็ได้หักเงินเดือนนายสุชาติตลอดมา หากโจทก์ไม่หักก็เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๕๒,๑๘๗ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน ๒๗,๖๐๙.๒๗ บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของนายสุชาติ รัตนสิน ยอมรับผิดไม่เกินจำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐ บาทไว้กับโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๑ ซึ่งตามสัญญาข้อ ๔ ระบุว่า ความผูกพันตามสัญญาค้ำประกันจะเป็นอันระงับลงต่อเมื่อโจทก์ได้หักค่าจ้างของนายสุชาติไว้เป็นประกันจนครบ ๕๐,๐๐๐ บาท มามอบให้โจทก์ยึดถือไว้แทนแล้ว ต่อมานายสุชาติได้ทุจริตยักยอกและฉ้อโกงโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสุชาติใช้เงินแก่โจทก์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาทเศษ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์มีว่าโจทก์ต้องนำเงินทุนเลี้ยงชีพของนายสุชาติมาหักจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ โจทก์มีนายสมาน ธนาคม ผู้จัดการของโจทก์ สาขาอุบลราชธานีเป็นพยานเบิกความว่า เงินทุนเลี้ยงชีพเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้พนักงานของโจทก์ทุกคนมิใช่หักจากเงินเดือน และตามระเบียบการเงินทุนเลี้ยงชีพของธนาคารกรุงเทพ จำกัด พ.ศ. ๒๕๒๑ เอกสารหมาย จ.๖ มีข้อความว่า ข้อ ๒ พนักงานของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้สิทธิรับเงินทุนเลี้ยงชีพจากธนาคารตามข้อ ๒.๑ เงินทุนเลี้ยงชีพรายเดือนเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ ๑๐ ของเงินเดือนของพนักงานที่ได้รับอยู่ในขณะนั้น และข้อ ๒.๒ เงินทุนเลี้ยงชีพเพิ่มพิเศษเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของยอดเงินในบัญชีทุนสะสมของพนักงานผู้นั้น เมื่อพนักงานผู้นั้นปฏิบัติงานมาครบ ๕ ปีและ ๑๐ ปีบริบูรณ์ ข้อ ๓.๑ การจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพรายเดือน จะจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือนทุกเดือน โดยธนาคารจะนำฝากเข้าบัญชีทุนสะสมของพนักงานผู้นั้น ข้อ ๓.๒ เงินทุนเลี้ยงชีพเพิ่มพิเศษจะจ่ายให้เพียง ๒ ครั้ง เมื่อพนักงานผู้นั้นปฏิบัติงานมาครบ ๕ ปีและ ๑๐ ปีบริบูรณ์ ตามลำดับเท่านั้น ไม่ว่าพนักงานผู้นั้นจะลาออกไปแล้วกลับเข้ามาปฏิบัติงานใหม่อีกก็ตามแสดงว่าเงินทุนเลี้ยงชีพนี้โจทก์เป็นผู้จ่ายให้นายสุชาติทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียว จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์หักเงินค่าจ้างของนายสุชาติไว้ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๔ โจทก์จึงนำเงินทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวไปชำระหนี้เงินกู้สวัสดิการที่นายสุชาติทำสัญญากู้กับโจทก์ได้ ที่จำเลยต่อสู้ว่านายสุชาติมียอดเงินในบัญชีเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน ๒๒,๓๙๐.๗๓ บาทเอกสารหมาย ล.๑ โจทก์ต้องหักเงินทุนเลี้ยงชีพดังกล่าวออกก่อน ส่วนที่เหลือจึงจะให้ผู้ค้ำประกันรับผิด จึงรับฟังไม่ได้ และตามสัญญาค้ำประกันข้อ ๔ ดังกล่าว มิได้เป็นการบังคับให้โจทก์มีหน้าที่ต้องหักค่าจ้างของนายสุชาติมายึดถือไว้แทนตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทห์ได้หักค่าจ้างของนายสุชาติไว้และนายสุชาติทำความเสียหายให้แก่โจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้แล้ว จำเลยจึงต้องรับตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.๑ ต่อโจทก์
พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share