คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์กล่าวว่า สินสมรสระหว่างนาย ห. และนาง ก. มีจำนวนเท่าใด ตกเป็นมรดกของนาง ก. 2 ใน 3 ส่วน คิดเป็นเงินเท่าใด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ชัดแจ้งว่า ส่วนที่ตกเป็นส่วนแบ่งของนาย ห. เท่ากับ 1 ใน 3 ส่วน และสามารถคำนวณออกมาเป็นเงินได้โดยง่าย ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
สามีภรรยาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 การแบ่งสินสมรสต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 ซึ่งกำหนดว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายมีสินเดิมให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วน ชายได้ 2 ส่วน หญิงได้ 1 ส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องของให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๐ และ ๑๘๕๙ ตามฟ้องรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลย. ทั้งสี่ให้กลับสู่ฐานะเดิมแล้วหักเป็นสินสมรสส่วนของนายหมัง ๑ ใน ๓ ส่วน ที่เหลือตกเป็นมรดกของนางกิมวาซึ่งตกได้แก่โจทก์ ๑ ใน ๓ ส่วน คิดเป็นเงิน ๙๙๑,๑๑๑ บาท หากแบ่งไม่ได้ให้นำขายทอดตลาด นำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ตามสิทธิ ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๓ กับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๗๑ และ ๒๐๗๒ ตามฟ้อง พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยหักเป็นสินสมรส ส่วนของนายหมัง ๑ ใน ๓ ส่วน ที่เหลือตกเป็นมรดกของนางกิมวาซึ่งตกได้แก่โจทก์ ๑ ใน ๓ ส่วน คิดเป็นเงิน ๑,๗๘๔,๔๔๔ บาท หากแบ่งไม่ได้ให้นำขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ตามสิทธิ ให้แบ่งสินเดิมและสินส่วนตัวตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันเป็นมรดกของนางกิมวาแก่โจทก์ ๑ ใน ๓ ส่วน คิดเป็นเงิน ๓๐๘,๙๔๖ บาท หากแบ่งไม่ได้ให้นำขายทอดตลาดเอาเงินที่ได้แบ่งแก่โจทก์ตามสิทธิ ให้แบ่งหุ้นบริษัทน้อมมิตร จำกัด ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องโดยหักเป็นสินสมรสส่วนของนายหมัง ๑ ใน ๓ ส่วน ที่เหลือตกเป็นมรดกของนางกิมวาซึ่งตกแก่โจทก์ ๑ ใน ๓ ส่วน คิดเป็นเงิน ๘,๘๘๘ บาท หากแบ่งไม่ได้ให้นำขายทอดตลาด เอาเงินที่ได้แบ่งแก่โจทก์ตามสิทธิ ให้นำเงินจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง มาแบ่งโดยหักเป็นสินสมรสของนายหมัง ๑ ใน ๓ ส่วน หักส่วนที่จ่ายแก่นางลูกอิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือตกเป็นมรดกของนางกิมวาซึ่งตกแก่โจทก์ ๑ ใน ๓ ส่วน คิดเป็นเงิน ๓๑๑,๑๑๑ บาท
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การต่อสู้หลายประการ และว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายหมังและนางกิมวา โจทก์ไม่มีสิทธิขอแบ่งหรือขอให้เพิกถอนการโอนสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง นายหมังครอบครองทรัพย์พิพาททั้งหมดเพื่อตนเอง ไม่ได้ครอบครองแทนทายาทคนอื่น ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเคลือบคลุม
จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนสิทธิที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง โฉนดเลขที่ ๒๔๐ ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ที่นายหมังโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสี่นั้น กลับคืนให้แก่โจทก์จำนวนร้อยละ ๘.๔๗๗๗ ของที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง ให้จำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจำนวนดังกล่าวนี้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ ๒๒๓ ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ให้แก่โจทก์จำนวนร้อยละ ๘.๔๗๗๗ ของที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง หากไม่อาจแบ่งที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ได้ ให้นำที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งให้โจทก์ตามสิทธิข้างต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่นายหมังโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ตามโฉนดเลขที่ ๒๔๐, ๑๘๕๙ ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะ ๑ ใน ๙ ส่วนและให้ส่วนที่เพิกถอนนั้นตกเป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่แบ่งที่ดินโฉนดที่ ๒๒๓ ตำบลแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ ๑ ใน ๙ ส่วนหากไม่อาจแบ่งได้ให้นำที่ดินรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินที่ได้แบ่งแก่โจทก์ตามส่วนข้างต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นบุตรนายหมัง นางกิมวา และนายหมังและนางกิมวาเป็นสามีภรรยากันก่อนที่จะมีกฎหมายบัญญัติให้มีการจดทะเบียนสมรส นางกิมวาจึงเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมัง จำเลยทั้งสี่เป็นบุตรของนายหมังซึ่งเกิดจากภรรยาอื่น นายหมังได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสี่ขณะสมรสนายหมังและนางกิมวาต่างมีสินเดิมขณะนางกิมวาถึงแก่ความตาย ไม่ปรากฏว่านางกิมวามีสินส่วนตัวอยู่ตามที่โจทก์อ้าง แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นจำเลยที่ ๑ อ้างว่าเนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า นางกิมวาและนายหมังได้ส่วนแบ่งทรัพย์คนละกี่ส่วน เป็นเงินคนละเท่าใด เห็นว่าฟ้องโจทก์กล่าวไว้แล้วว่า สินสมรสระหว่างนายหมังและนางกิมวามีจำนวนเท่าใด ตกเป็นมรดกของนางกิมวา ๒ ใน ๓ ส่วน คิดเป็นเงินเท่าใด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ชัดแจ้งว่า ส่วนแบ่งที่ตกเป็นส่วนของนายหมังเท่ากับ ๑ ใน ๓ ส่วน และสามารถคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงินได้โดยง่าย ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ในประเด็นที่ว่า โจทก์มีส่วนได้ในทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสี่ได้รับโดยการยกให้ และโดยพินัยกรรมของนายหมังหรือไม่ และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ทรัพย์สินในส่วนนี้คือ สินสมรสที่โจทก์อ้างว่ามีเงินสดที่ฝากในธนาคาร และหุ้นของบริษัทน้อมมิตร จำกัด จำนวนหนึ่งจากทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า นายหมังเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวไว้แทนโจทก์หรือทายาทคนอื่นทั้งโจทก์มิได้เข้าครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวร่วมกับนายหมังแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงขาดอายุความแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ แล้วินิจฉัยต่อไปว่า สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๓, ๒๔๐ และ ๑๘๕๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งสามแปลงเป็นสินสมรสของนางกิมวาและนายหมัง โจทก์ได้ครอบครองที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวร่วมกับนายหมังด้วย ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์มีในส่วนได้ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวนี้ด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๗๑,๒๐๗๒ ไม่ใช่สินสมรสหากแต่เป็นสินเดิมของนายหมัง โจทก์จึงไม่มีส่วนได้ในที่ดินทั้งสองแปลง การแบ่งส่วนที่ดิน ๓ แปลง ที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๓, ๒๔๐ และ ๑๘๕๙ นั้น จะต้องหักส่วนของนายหมังออกเสียก่อน เนื่องจากนายหมังและนางกิมวาเป็นสามีภรรยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ จึงต้องบังคับตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ ๖๘ ซึ่งกำหนดว่าถ้าทั้งสองฝ่ายมีสินเดิมให้แบ่งสินสมรสเป็น ๓ ส่วน ชายได้ ๒ ส่วน หญิงได้ ๑ ส่วน ดังนั้น ที่ดินทั้ง ๓ แปลงดังกล่าวแต่ละแปลงจึงตกเป็นของนายหมัง ๒ ส่วน เป็นมรดกของนางกิมวา ๑ ส่วน แต่เนื่องจากทายาทของนางกิมวามี ๓ คน เพราะนางลูกอินได้รับส่วนแบ่งไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้ ๑ ใน ๓ ของมรดกนางกิมวา ซึ่งเมื่อคำนวณตามอัตราส่วนดังกล่าวแล้ว โจทก์คงมีสิทธิได้รับเพียง ๑ ใน ๙ ส่วน ของที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวข้างต้นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น เป็นการถูกต้องแล้ว และสำหรับฎีกาของจำเลยที่ ๑ เกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดไว้เหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษายืน

Share